แหล่งก๊าซธรรมชาติทะเลดำสานฝันผู้ส่งออกพลังงาน“ตุรกี”

แหล่งก๊าซธรรมชาติทะเลดำสานฝันผู้ส่งออกพลังงาน“ตุรกี”

นับเป็นข่าวใหญ่ประธานาธิบดีรีเซบ ธายิป เออร์โดแกนของตุรกีประกาศว่าตุรกีค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองประมาณ 320 พันล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในทะเลดำห่างจากชายฝั่งตุรกีไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 150 กิโลเมตร สร้างความตื่นเต้นและความตื่นตัวในตุรกีไม่น้อย

นอกจากแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าวจะอยู่ในเขตอาณาของตุรกีอย่างไม่ต้องสงสัย ทำให้ไม่มีข้อขัดแย้งด้านการอ้างสิทธิ์จากประเทศอื่น ๆ ต่างจากสถานการณ์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีความซับซ้อนทางภูมิรัฐศาสตร์และเป็นปัจจัยที่สร้างความตึงเครียดตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา

การค้นแหล่งพลังงานธรรมชาติครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในตุรกี ตั้งแต่ปี 2473 อีกทั้งเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังเป็นการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกในปี 2563

แม้ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่ตุรกีค้นพบดังกล่าว จะมีปริมาณเพียงหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในแหล่งซอหร์ของอียิปต์ ซึ่งถูกค้นพบเมื่อปี 2558 แต่เป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเป็นหนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก

แต่หากจะเปรียบเทียบกับการค้นพบแหล่งพลังงานธรรมชาติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ ของอิสราเอลที่ค้นพบก๊าซธรรมชาติที่แหล่งทามาร์ ซึ่งมีปริมาณก๊าซสำรองเท่ากันกับที่ตุรกีค้นพบล่าสุด หรือแหล่งเลวีอาธาน ซึ่งมีปริมาณก๊าซสำรองประมาณ 600 พันล้านลูกบาศก์เมตร หรือแหล่งอโฟรไดท์ของไซปรัส ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติสำรองประมาณ 130 พันล้านลูกบาศก์เมตรเพราะการค้นพบแหล่งพลังงานสำรองในครั้งนี้ มีนัยสำคัญต่อตุรกีมาก

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตุรกีเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก ตั้งแต่ปี 2554 ตุรกีได้นำเข้าพลังงานประมาณ 45 – 50 พันล้านลูกบาศก์เมตรในทุกปี เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศเกือบ 75% และในปี 2562 การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมีมูลค่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยนำเข้าจากรัสเซีย 33% อาเซอร์ไบจาน 21% และอิหร่าน 18%

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าถือไพ่เหนือกว่าและสามารถกำหนดราคา และกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้ โดยตุรกีไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต่อรองมากเท่าใดนัก

รัฐบาลตุรกี ตระหนักดีถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ จึงได้ปรับยุทธศาสตร์จากการเน้นการขุดเจาะทางบกเป็นหลักในอดีต มาเป็นการเสาะหาแหล่งพลังงานสำรองในทะเลอย่างจริงจังในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งซื้อเรือสำรวจและขุดเจาะน้ำมันเพื่อการนี้ถึง 3 ลำ สะท้อนความตั้งใจค้นหาแหล่งทรัพยากรพลังงานในทะเลดำและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นอกจากนี้ รัฐบาลตุรกี ยังตัดสินใจทางการเมืองที่จะพยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากแหล่งต่างๆ อาทิ แอลจีเรีย ไนจีเรีย กาตาร์ รวมถึงสหรัฐ จนการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี มีสัดส่วน 28% ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้การนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลดลงจาก 51.9% ในปี 2560 เหลืออยู่ที่ 33% ในปี 2562

ตุรกียังคงเดินหน้าเสาะหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องและจริงจังด้วยความหวังว่าการค้นพบแหล่งพลังงานของตัวเอง จะสามารถตอบสนองความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศได้ในสัดส่วน 1 ใน 3 ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองการต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญากับบริษัท Gazprom จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2564 ยังจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทำให้ตุรกีมีอิสรภาพทางพลังงานและมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น

แม้ว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบอาจไม่มากพอที่จะทำให้ตุรกีไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า และช่วยสานฝันของตุรกีที่ต้องการเป็นเป็นชาติผู้ส่งออกพลังงานสุทธิ แม้จะยังเทียบไม่ได้กับรัสเซีย กาตาร์ และเติร์กเมนิสถาน ที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 47.8, 24.5 และ 7.5 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

ตุรกีไม่เคยปิดบังเป้าหมายว่า ต้องการจะเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคและในโลก เนื่องจากมองว่า ตนเองได้เปรียบจากจุดยุทธศาสตร์ของประเทศ ที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตะวันออกกลางและแถบคอเคซัส กับประเทศผู้ใช้พลังงานในยุโรป และเป็นตัวเชื่อมของโครงการท่อส่งพลังงานหลายโครงการ

ตุรกีมีความคาดหวังว่า หากสามารถหลุดพ้นจากการต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ก็จะทำให้เศรษฐกิจภายในของประเทศเข้มแข็งขึ้น และจะทำให้สามารถแสดงบทบาทที่โดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้นอีก

นอกจากนี้ การค้นพบแหล่งพลังงานด้วยเรือและบุคลากรของตุรกีเองยังสอดรับกับนโยบาย “ใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและของชาติ” (yerli ve milli - local and national) ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ของที่ตุรกีผลิตเอง เพื่อลดการขาดดุลทางการค้ากับต่างประเทศ และเพิ่มภาพลักษณ์ความแข็งแกร่งในการพึ่งพาตนเอง

ถึงอย่างไร การที่ ประธานาธิบดี ประกาศว่าจะนำก๊าซมาใช้ให้ได้ภายในปี 2566 ซึ่งจะเป็นปีครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี ก็เป็นการจุดประกายความรักและความภาคภูมิใจในชาติเช่นกัน

แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและนักวิเคราะห์มองว่า เป้าหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากยังต้องมีการประเมินความคุ้มค่า คุณภาพและปริมาณก๊าซที่ขุดได้จริง รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสำรวจและผลิตที่ยังต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนอีกหลายพันล้านดอลลาร์ จึงอาจต้องใช้เวลาอีกถึง 10 ปี กว่าจะนำก๊าซธรรมชาติในทะเลดำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ หรือการประเมินของผู้เชี่ยวชาญว่า ปริมาณก๊าซสำรอง 32 พันล้านลูกบาศก์เมตรน่าจะเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศได้เพียง 7 – 8 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจตุรกีด้านน้ำมัน (Türkiye Petrolleri Anonim Ortaklığı - Turkish Petroleum Corporation - TPAO) ก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติน้ำลึก มีแนวโน้มว่าจะต้องร่วมทุนกับบริษัทเอกชนจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการขุดเจาะก๊าซดังกล่าว จึงอาจเป็นโอกาสสำหรับบริษัทและภาคเอกชนจากอาเซียน ที่จะประเมินศักยภาพและขยายความร่วมมือด้านพลังงานกับตุรกี

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่า การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติของตุรกีในครั้งนี้ อาจเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้ความฝันของตุรกีในการเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานและเป็นศูนย์กลางทางพลังงานของภูมิภาคและของโลก ลุกโชติขึ้นอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ