สรุปสัมภาษณ์ 'สก็อต เบสเซนต์' จากตลาดบอนด์ สู่จีน และภาษีทรัมป์

สรุปประเด็นขุนคลังสหรัฐ 'สก็อต เบสเซนต์' ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วิกฤตตลาดพันธบัตร ไปจนถึงการกีดกัน "จีน" ในละตินอเมริกา และการพลิกบทบาทจากคนวงนอกสู่ทีมลีดเจรจาภาษี
ชื่อของ "สก็อต เบสเซนต์" รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลังมานี้ จากเดิมที่บลูมเบิร์กเคยรายงานว่าเขาเป็นเหมือน "คนวงนอก" ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจกำหนดอัตราภาษีเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ไปก่อนหน้านี้ แต่สถานการณ์กำลังพลิกกลับในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อตลาดหุ้นตกต่ำสุดในรอบหลายสิบปีและที่สำคัญ "ตลาดพันธบัตร" ถูกเทขายอย่างผิดปกติจนบอนด์ยีลด์พุ่งสูงสร้างความระส่ำไปทั่วโลก จนทรัมป์ต้องเลื่อนภาษีออกไป 90 วัน และมีการตั้งให้เบสเซนต์เป็นหัวหน้าทีมเจรจาเรื่องภาษี โฟกัสจึงกลับไปหาเบสเซนต์ที่เป็นอดีตผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์และอดีตผู้จัดการกองทุนของจอร์จ โซรอส โดยมีรายงานข่าวว่าเขามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนภาษีออกไป 90 วัน เพื่อหยุดวิกฤติในตลาดพันธบัตรและค่าเงินดอลลาร์ที่กำลังเสื่อมค่า
ล่าสุด เบสเซนต์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กในประเด็นต่างๆ ระหว่างการเดินทางเยือนอาร์เจนตินา ตั้งแต่การตอบคำถามเรื่อง "ตลาดพันธบัตรสหรัฐกำลังถูกดั๊มป์หรือไม่" ไปจนถึงการที่เขาต้องมาถึงอาร์เจนตินาเพื่อกีดกันจีนไม่ให้เข้ามาครอบงำละตินอเมริกาเหมือนที่ทำกับแอฟริกา และการที่บทบาทของเขากำลังพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือในเรื่องภาษีตอบโต้
"กรุงเทพธุรกิจ" สรุปประเด็นสำคัญมาให้ดังนี้
- "ละตินอเมริกา" และ "จีน"
รัฐบาลทรัมป์ให้ความสำคัญกับละตินอเมริกาตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีเป้าหมายหลักคือ การป้องกันไม่ให้จีนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ "ข้อตกลงที่ละโมภ" (rapacious deals) เช่นเดียวกับที่ทำในแอฟริกา ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในแร่ธาตุ หนี้ที่ไม่เปิดเผย และข้อตกลงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งอาจส่งผลเสียยาวนานไปจนถึงคนรุ่นเจนเนอเรชันต่อไป ปัจจุบัน อาร์เจนตินามีการทำข้อตกลงสวอปอัตราแลกเปลี่ยนกับจีนไปแล้ว แต่กับสหรัฐนั้นยังไม่มีการพิจารณาขอการปล่อยสินเชื่อโดยตรงกับสหรัฐ
- การเจรจาการค้า
สหรัฐได้ชะลอการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน และกำลังดำเนินการเจรจาการค้ากับพันธมิตรสำคัญๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึง "เวียดนาม ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้" โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการที่เป็นระเบียบใหม่ ผู้ที่บรรลุข้อตกลงเป็นรายแรกอาจได้รับข้อตกลงที่ดีที่สุด โดยคาดว่าจะมีข้อตกลงในเชิงหลักการกับหลายประเทศภายใน 90 วัน ส่วนจะมีหลายสิบประเทศหรือไปถึง 70 ประเทศเลยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา
เบสเซนต์ระบุว่าแนวทางภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นกลยุทธ์ที่กำหนดอัตราภาษีสูงเพื่อเริ่มต้นการเจรจา แต่ภาษีศุลกากรก็ยังเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด เมื่อเทียบกับอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff trade barriers) ซึ่งมีความซับซ้อนในการดำเนินการมากกว่าและต้องใช้เวลานานกว่าในการแก้ปัญหา ส่วนคำถามเรื่องการพลิกบทบาทมาเป็นผู้นำการเจรจานั้น เบสเซนต์ตอบว่าเขาเคยบอกว่าไม่ได้เป็นคนกำหนดอัตราภาษีเท่านั้น แต่ก็ยังอยู่ในวงกำหนดนโยบายนี้มาตลอด
- ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน
สหรัฐต้องการให้บรรดาประเทศคู่ค้าพิจารณาถึงผลกระทบจากสินค้าจีนที่ไหลบ่าเข้าสู่ตลาดของตน หลังจากที่สหรัฐเริ่มใช้มาตรการภาษีนำเข้า กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่าอัตราภาษีนำเข้าที่สูงเป็นเรื่องตลก แต่สหรัฐมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้ไปในระยะยาวก็ตาม และแม้ว่าการแยกเศรษฐกิจของสหรัฐออกจากจีน (decoupling) จะไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่ก็มีความเป็นไปได้ ความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมีความพิเศษเฉพาะตัวเนื่องจากจีนเป็นทั้งคู่แข่งทางเศรษฐกิจและคู่แข่งทางการทหาร
"ผมคิดว่าการต่อสู้เป็นคำที่รุนแรงไปหน่อย แต่ตอนนี้เรามีภาษีศุลกากรกับจีนแล้ว และพวกเขา (ประเทศคู่ค้า) ก็ต้องการการปกป้องตัวเองจากสินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้าตลาด พวกเขา (จีน) จะไม่หยุดการผลิตเพราะสหรัฐมีกำแพงภาษีศุลกากร สินค้าเหล่านั้นจะไปที่ไหนสักแห่ง" เบสเซนต์ตอบคำถามเรื่องมีการมองหาความร่วมมือจากชาติพันธมิตรในการเจรจาการค้า เพื่อร่วมกันต่อสู้กับจีนหรือไม่
"ส่วนสินค้าจะไปที่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่ามันคืออะไร สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอาจจะไปที่ยุโรป แคนาดา หรือกลุ่มประเทศ G7 ส่วนพวกกลุ่มสินค้าราคาถูกที่มีปริมาณมาก หรือสินค้าจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ อาจทะลักไปในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้"
- ตลาดพันธบัตรและเงินดอลลาร์
เบสเซนต์ไม่เชื่อว่าจะเกิดการเทขาย หรือ "ดั๊มป์ตลาด" พันธบัตรสหรัฐ จากการประมูลหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ว่าต่างชาติถือครองพันธบัตรสหรัฐเพิ่มขึ้น รมว.คลังสหรัฐกล่าวว่า ความผันผวนล่าสุดในตลาดพันธบัตร โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีเพิ่มขึ้นและค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงนั้น เกิดจากสถานะการซื้อขายที่มีการกู้ยืม (leveraged) และการขายเพื่อถือเงินสดบางส่วน แต่ไม่ใช่การดั๊มป์ตลาดโดยรัฐบาลต่างชาติ (sovereign) และสหรัฐก็มีกลไกการซื้อคืนเพื่อป้องกันในเรื่องนี้อยู่แล้ว
เบสเซนต์ย้ำว่าดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นสกุลเงินสำรองของโลก และสหรัฐมีนโยบายดอลลาร์ที่เข้มแข็ง ความผันผวนในระยะสั้นไม่ใช่ปัญหาสำคัญ
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
เบสเซนต์กล่าวว่าได้หารือกับประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ เป็นประจำ การหารือเกี่ยวกับผู้สมัครประธานเฟดคนต่อไปแทนพาวเวลล์ ซึ่งจะหมดวาระในเดือนพ.ค. 2026 จะเริ่มขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ในปัจจุบันประธานเฟดไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับตลาดพันธบัตร เฟดไม่ได้รู้สึกจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงในตลาดพันธบัตร ขณะที่กระทรวงการคลังเองมีเครื่องมือต่างๆ มากมายที่พร้อมใช้งานหากสถานการณ์ในตลาดพันธบัตรน่าวิตกมากขึ้น รวมถึงการซื้อคืนพันธบัตร
- นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทรัมป์
เบสเซนต์เปรียบนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐชุดนี้ว่าเป็นเหมือน "เก้าอี้สามขา" ประกอบด้วย "ภาษีศุลกากร (กับต่างประเทศ) การลดหย่อนภาษี (ในประเทศ) และการลดกกฎระเบียบ" ซึ่งปัจจุบันประเด็นสำคัญอยู่ที่ภาษีศุลกากร เบสเซนต์เชื่อว่าตลาดควรพิจารณาภาพรวมของนโยบายทั้งหมด
เขาเน้นย้ำถึงความสามัคคีของพรรครีพับลิกันในการส่งเสริมงบประมาณและนโยบายภาษี โดยแนะนำว่ากำลังพิจารณามากกว่าแค่การขยายขอบเขตของกฎหมายภาษีในปัจจุบัน ส่วนสาส์นที่ต้องการสื่อถึงตลาดการเงินและผู้บริโภคก็คือ "ใจเย็นๆ" รัฐบาลกำลังปรับใช้นโยบายต่างๆ และเจรจาการค้าอยู่ เขารับประกันว่าจะมีกระบวนการที่เข้มแข็งในการเจรจาการค้า และเชื่อว่าความไม่แน่นอนที่ชี้วัดโดยดัชนี VIX น่าจะมาถึงจุดสูงสุดแล้ว