ไทยสมทบ 1 แสนดอลลาร์กองทุนรับมือโควิด

ไทยสมทบ 1 แสนดอลลาร์กองทุนรับมือโควิด

ไทยประกาศสมทบเงิน 1 แสนดอลลาร์ เข้ากองทุนอาเซียนรับมือโควิด-19 ขณะที่ 4 ประเทศคู่เจรจาสมทบอีกรายละ 1 ล้านดอลลาร์ อินเดียเผยถ้าวัคซีนสำเร็จยินดีแบ่งให้อาเซียน

ตามที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม

ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 -12 ก.ย.ที่ผ่านมาในระบบทางไกล โดยมีนายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรวม 10 ประเทศพร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียนประเทศคู่เจรจาอีก 10 ประเทศ และประเทศนอกภูมิภาคอีก 6 ประเทศ กับ 1 ภูมิภาคคือ สหภาพยุโรปเข้าร่วมนั้น

นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า การประชุมครั้งนี้ เน้นเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 (Asean Covid-19 Response Fund) ที่ไทยเสนอ สำหรับใช้จัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ และสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นยาและวัคซีน

ในเบื้องต้น ไทยประกาศสมทบเงินเข้ากองทุนฯ จำนวน 1 แสนดอลลาร์ (3.1 ล้านบาท) ขณะที่ประเทศคู่เจรจาทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียได้สมทบอีกประเทศละ 1 ล้านดอลลาร์ โดยสามารถนำเงินในกองทุนไปใช้ทันที ขณะนี้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสาธารณสุขอาเซียนกำลังเตรียมยกร่างข้อเสนอโครงการเพื่อนำเงินจากกองทุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในช่วงที่หลายประเทศในภูมิภาคกำลังรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

*อาเซียนให้คำมั่นแบ่งปันยา-วัคซีนต้านโควิด

"เงินส่วนหนึ่งของกองทุน จะนำไปสนับสนุนงานงานวิจัยพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19ในภูมิภาค โดยอาเซียนย้ำว่า เมื่อสามารถพัฒนาวัคซีนได้แล้ว พร้อมจะแบ่งปันให้ประเทศสมาชิก" อธิบดีกรมอาเซียนกล่าว และว่า ในการประชุมอาเซียน-จีน ที่พูดถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุนในการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน เพื่อพัฒนาให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาสมเหตุสมผล เช่นเดียวกับที่ประชุมอาเซียน-อินเดีย ทางรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียได้ให้คำมั่นว่า วัคซีนที่อินเดียได้พัฒนาอยู่ในขั้นทดลองทางคลินิกอยู่ขณะนี้ หากประสบความสำเร็จก็ยินดีแบ่งปันให้กับอาเซียน

*ร่างแผนฟื้นฟูอาเซียน หลังโควิด

ส่วนการจัดทำแผนฟื้นฟูภูมิภาค หลังวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ร่วมรับรองเอกสารแนวคิดจัดทำเอกสารกรอบความร่วมมือ ที่มาคู่กับเอกสารแผนปฏิบัติการฟื้นฟูภูมิภาคฯ ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนกำลังยกร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ และจะนำหารือผ่านกลไกต่างๆกับประเทศสมาชิก ครอบคลุมประเด็นสาธารณสุข เศรษฐกิจ การศึกษา และผลกระทบด้านสังคม วัฒนธรรม

"สำหรับไทย นอกจากให้ความเห็นกับสำนักเลขาฯอาเซียนไปแล้ว ยังจะจัดหารือกับภาคเอกชน ประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ เพื่อระดมความเห็นและรับฟังข้อกังวลแต่ละภาคส่วน เพื่อนำไปเสนอจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งบรรเทาผลกระทบทุกมิติ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว" อธิบดีกรมอาเซียนระบุ

ทั้งนี้ นายดอน ได้เสนอให้อาเซียนจัดตั้งกองทุน “ASEAN SMEs Recovery Facility” เพื่อเป็นกลไกที่จะช่วยสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนและฟื้นตัวจากโควิด-19

*ตั้งคลังสำรองอุปกรณ์แพทย์ฉุกเฉิน

นางสาวอุศณา กล่าวต่อว่า อาเซียนเห็นชอบให้จัดตั้งคลังสำรองสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งจีนได้เสนอขยายวงเปิดให้ประเทศนอกภูมิภาคเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้เป็นอาเซียนบวกสาม

เบื้องต้นได้วางแนวคิดคลังสำรองฯว่า แต่ละประเทศสมาชิกประกาศความพร้อมในการมอบอุปกรณ์การแพทย์แบ่งตามประเภทและจำนวน โดยเก็บไว้ในประเทศตัวเองก่อน เมื่อถึงเวลา จึงจะเบิกและจัดส่งไปช่วยเหลือ เนื่องจากอุปกรณ์และยาบางชนิดจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิเฉพาะ ถ้าจะต้องสร้างอาคารเพื่อเป็นคลังอุปกรณ์ขึ้นใหม่จะไม่คุ้มค่า

นอกจากนี้ ประเทศคู่เจรจายังมีข้อเสนอเฉพาะ อย่างจีนประกาศสนับสนุนเงินอีก 5 ล้านดอลลาร์เพื่อจัดทำความร่วมมือนำร่องด้านสาธารณสุขอาเซียน - จีน และประกาศให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน - จีน โดยเป็นการสานต่อประเด็นการส่งเสริมความยั่งยืนทุกมิติ ซึ่งไทยได้ผลักดันในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

ญี่ปุ่นเสนอจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases เพื่อช่วยดูแลกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและติดตามการแพร่ระบาดโรคติดต่อในภูมิภาค ซึ่งญี่ปุ่นเตรียมประกาศว่า จะจัดตั้งศูนย์ฯในประเทศไหน ในช่วงจัดประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ปลายปีนี้

ขณะที่เกาหลีใต้ประกาศมอบอุปกรณ์ป้องกันโรคและเวชภัณฑ์มูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ให้กับอาเซียน และเสนอให้จัดหารือรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน - เกาหลีใต้ ในทุกๆ 2 ปี

ส่วนสหรัฐประกาศให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่ารวม 87 ล้านดอลลาร์ และยกระดับศูนย์ Center Diseaseas for Control ที่ตั้งอยู่ในไทย และเวียดนาม เป็นศูนย์ระดับภูมิภาค อีกทั้งยังสนับสนุนความร่วมมือผ่านข้อริเริ่ม ASEAN-U.S. Health Futures เพื่อกระจายวัคซีนโควิด-19 ในอนาคต

"การประชุมครั้งนี้ หลายประเทศเห็นตรงกันว่า ในช่วงการแพร่ระบาดได้เห็นความตึงเครียดระหว่างกันมากขึ้น อาจเพราะบางประเทศมีความจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง จึงเห็นพ้องให้มีการเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีและภูมิภาคนิยม มากกว่าการแข่งขัน หรือสร้างสถานการณ์เผชิญหน้า โดยหวังให้ ทุกประเทศก้าวข้ามผ่านวิกฤติการณ์นี้ไปให้ได้ เพราะต่างตระหนักดีว่า โควิด-19 เป็นปัญหาร่วมกันระดับโลก" อธิบดีกรมอาเซียนกล่าว

*อินโดนีเซียเสนอ Travel Bubble

ด้านอินโดนีเซียเสนอเอกสารแนวคิดจัดทำ Travel Bubble ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอาเซียนรับไปพิจารณาเพราะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาธารณสุข คมนาคม และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยทุกประเทศอาเซียนย้ำว่า เริ่มมีความจำเป็นต้องพิจารณาเปิดประเทศให้สมดุลระหว่างการดูแลในด้านสาธารณสุข กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยครั้งนี้ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประกาศพร้อมจะทำ Travel Bubble กับประเทศในอาเซียน ขณะที่ตอนนี้มีการจับคู่ทวิภาคีทำ Travel Bubble ไปบ้างแล้ว เช่น ญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ ญี่ปุ่นกับเวียดนาม จีนกับสิงคโปร์ เป็นต้น

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 11 ฉบับ และลงนาม 1 ฉบับ และเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ในเดือน พ.ย.2563