TPIPP ดันโมเดล 'จะนะ' อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยุคนิวนอร์มอล
การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2563 กระทบการจ้างงานทั่วประเทศ ในขณะที่ TPIPP ยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อให้ "จะนะ" เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในยุคนิมนอร์มอล
บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ผู้นำธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค พร้อมที่จะสนับสนุนภาครัฐพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มการสร้างงานและรายได้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP มองว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ เกิดจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียวได้ จึงต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายในประเทศ เพิ่มการจ้างงานเพิ่มเงินให้คนในประเทศมีสุขอนามัยและกินดีอยู่ดี
บริษัทฯ เห็นความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงการในภาคใต้ ด้วยศักยภาพด้านภูมิเศรษฐกิจประเทศ แรงงาน ทรัพยากร และได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาล ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการเมืองแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2559 และมีมติเห็นชอบขยายผลสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562
รวมทั้งรับทราบการอนุมัติของกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2562 ตามโครงการพัฒนาอำเภอจะนะ ของบริษัทฯ และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับหน้าที่ไปประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจตามมาตรา 7 ,9 ,10 และ 18 แห่ง พ.ร.บ.การบริหารจัดการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้เร่งรัดโครงการนี้เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563
ขณะที่ความไม่สงบทางภาคใต้ รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 เพื่อบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขจัดความเดือดร้อนของ 4 จังหวัดภาคใต้ และทำให้เกิดความสงบ และความมั่นคงของประเทศ โดยมอบให้ ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการภายใต้ความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติและ ครม.
ภัคพล มองว่า เหตุผลสำคัญที่ควรเร่งพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากปัญหาสำคัญของภาคใต้ คือ การว่างงาน เพราะผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์มีน้อย ไม่สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและสำเร็จรูป ทำให้ขาดโอกาสทางรายได้
อีกทั้งด้านการขนส่งในปัจจุบันของไทยได้ส่งสินค้าไปขึ้นเรือที่ท่าเรือปีนังถึง 600,000 ตันต่อปี เนื่องจากท่าเรือสงขลา 1 รองรับได้แค่ 200,000 ตันต่อปี ดังนั้นหากมีท่าเรือน้ำลึกเพิ่มในจังหวัดสงขลา ก็สามารถนำสินค้าเหล่านี้มาส่งออกทางสงขลาได้ไม่ต้องพึ่งพาท่าเรือปีนัง หรือแหลมฉบัง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าจากทางภาคใต้ถูกลงอย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมหนักเบา เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลาได้
ขณะที่ด้านพลังงาน ปัจจุบันภาคใต้ ต้องรับไฟฟ้าจากภูมิภาคอื่น 650 MW เพราะความต้องการสูงกว่ากำลังการผลิตที่มั่นคง ซึ่งยังไม่ได้รวมประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น จากเทคโนโลยี Disruption เปลี่ยนรถยนต์เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการเติบโตของประชากรและอุตสาหกรรมในภาคใต้
หากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ “เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด” เติบโตขึ้น การมีศูนย์รวมพลังงานที่สะอาด หรือ Energy Complex จึงมีความจำเป็น และอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เหมือน “ไก่กับไข่” หากไม่มีพลังงาน
นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังมีอัตราเด็กนักเรียน นักศึกษา จบใหม่ปีละ 25,000 คน ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องไปทำงานต่างพื้นที่หรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในพื้นที่ไม่มีงานรองรับ หรือภาพรวมมีคนออกไปทำงานนอกพื้นที่ถึง 4 แสนคน
“หากสร้างอุตสาหกรรมสะอาดและเพิ่มจ้างงานในพื้นที่ได้ ประชาชนก็เดือดร้อนน้อยลงและความสงบจะกลับสู่ครอบครัวชาวปักษ์ใต้ ได้อยู่ดีกินดี มีความสุข ความมั่นคงของประเทศก็จะเกิดขึ้นได้”
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้เชิญให้ บริษัทฯ เข้าร่วมพัฒนา 3 จังหวัด 4 อำเภอชายแดน ภาคใต้ เพื่อ “ดับไฟใต้” สร้างความสงบสุขให้ประชาชนและประเทศ อีกทั้ง บริษัทฯ ยังได้เสนอโครงการลงทุนบนพื้นที่ 16,700 ไร่ ที่จะนะ
เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตเป็น Energy Complex ที่สะอาด ประกอบด้วย การจัดสร้างโรงไฟฟ้า 8,000 เมกะวัตต์ ทั้งจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พลังงานลม โซลาร์เซลล์ ชีวมวลและขยะเทศบาลรวมถึงท่าเรือน้ำลึกแบบเทกอง (Bulk) ท่าเรือคอนเทนเนอร์ ท่าเรือ LNG และน้ำมัน
นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร อาหารฮาลาลผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม, อุตสาหกรรมยาง,อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรกลไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อู่ต่อเรือ แท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น และเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตลอดจนธุรกิจการเงินระหว่างประเทศแบบประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์
“โมเดลจะนะ เมืองต้นแบบที่ 4 จะเป็นช่องทางการส่งออกของไทย ที่จะสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้ประเทศ และคนในจังหวัดชายแดนใต้ตามนโยบายรัฐบาลให้ อยู่ดี กินดี มีสุข และถือเป็น New Normal ของบริษัทฯ”
ปรกฤษฏ์ เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการ บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ระบุว่า บริษัทฯ มีศักยภาพ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา บริษัทฯ เป็นรายแรกที่บุกเบิกพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยผลิตปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดในเอเชียอาคเนย์ที่ระยอง ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ แต่บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาจนประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทฯ มองว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมขาลง (SUNSET INDUSTRY) ทำให้เมื่อ 10 ปีก่อน บริษัทฯ จึงเริ่มหันไปสู่พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต โดยบุกเบิกก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการใช้เชื้อเพลิงจากขยะเทศบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว ทาง ศอ.บต.จึงชักชวนให้บริษัทฯ มาพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งได้ทำแผนผลักดันสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้ 3 องค์ประกอบ คือ
1.รัฐบาลต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่ง ครม.อนุมัติแล้ว คือ การเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว 16,700 ไร่ เป็นสีม่วง ตามคำขอของบริษัทฯ รวมทั้งให้ตั้งโรงไฟฟ้า 8,000 เมกะวัตต์ ลงทุนระยะที่ 1 กำลังผลิต 3,700 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าก๊าซ LNG พลังงานลม โซลาร์เซลล์ ชีวมวล-ขยะเทศบาล
รวมทั้งให้สิทธิพิเศษกับร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมสูงสุดเท่าที่กฎหมายกำหนด และให้เร่งรัดหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวกให้บริษัทฯ และผู้ร่วมทุน
2.ต้องมี Basic Utility ทั้งน้ำและไฟฟ้า โรงงานบำบัดนำเสีย ตลอดจนเส้นทางคมนาคม ซึ่งบริษัทฯ เห็นว่าอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เกิดขึ้น ต้องไม่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี และถ่านหิน ที่ในอนาคตจะถูกแทนที่ด้วยพลังงานสะอาด
ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าจะเป็นอุตสาหกรรมที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอันดับสูงสุดที่จะทำเป็น Energy Complex พลังงานสะอาดทั้ง 8,000 เมกะวัตต์ โดยนำเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดมาใช้ มีการควบคุมมลพิษเคร่งครัด และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่ง ศอ.บต.เห็นตรงกันว่าหากจัดโซนนิ่งได้ดีจะควบคุมมลพิษได้ตามมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนชักชวนบริษัทต่างชาติ ที่จะลงทุนธุรกิจใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ขาขึ้น (New S-curve) เช่น ธุรกิจผลิตแผงโซลาร์ ธุรกิจผลิตกังหันลม ธุรกิจประกอบรถไฟ เครื่องบิน และแบตเตอรี่ รวมถึงธุรกิจนาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ อีกทั้งตั้งอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ปาล์ม และยางพารา
3.ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการนำเข้าและส่งออก ซึ่งปัจจุบันท่าเรือสงขลารองรับสินค้าได้ 200,000 ตันต่อปี แต่สินค้าของภาคใต้มีมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี ทำให้กว่า 80% ของสินค้าต้องหันไปส่งสินค้าทางบกที่ปีนังหรือสิงคโปร์ หรือแหลมฉบัง ทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงมากและแข่งขันไม่ได้ ดังนั้นหาก “เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด” เกิดขึ้นได้ การส่งออกก็จะมากขึ้น สามารถสร้างการจ้างงานในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากภาครัฐ บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าการลงทุนทันทีและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ปี 2568 ส่วนมูลค่าโครงการอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและกรอบวงเงินที่ชัดเจน แต่มั่นใจว่าบริษัทฯ พร้อมด้านการเงินลงทุน
รวมถึงยังอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรหลายราย โดยส่วนใหญ่สนใจในโครงการนี้ ขณะเดียวกันบริษัทฯ มองไปถึงศักยภาพที่จะเข้ามาเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ด้วย โดยอยู่ระหว่างรอความชัดเจนกติกาของภาครัฐที่จะเปิดเสรีการแข่งขันเต็มรูปแบบ และได้ศึกษารูปแบบทางธุรกิจเตรียมความพร้อมคู่ขนานกันไปด้วย
“โครงการนี้จะสำเร็จได้ภาครัฐต้องสนับสนุนและประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจน รวมถึงการจัดสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ด้วย"
สำหรับ ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ และบริษัทในเครือมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 440 เมกะวัตต์ โดย 180 เมกะวัตต์มาจาก RDF ซึ่งรับกำจัดวัสดุเหลือใช้ ขยะเทศบาล 6,000-10,000 ตันต่อวัน จากปริมาณการผลิตขยะของประเทศไทยอยู่ที่กว่า 70,000 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 7 ของประเทศที่บริษัทฯ มีส่วนช่วยประเทศกำจัดขยะเพื่อแก้ไขปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เนื่องจากเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค ในแง่ของความต้องการใช้จึงไม่ถูกกระทบ และยังคงเป้าหมายทำรายได้ปีนี้ อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท จาก 10,900 ล้านบาทในปีก่อน รวมถึง บริษัทฯ ยังมองโอกาสขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติม 400 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP 2018 เพื่อสร้างการเติบโต