‘ดุสิตฯ’ งัดแผนสำรองสู้โควิด ลากท่องเที่ยวซึมยาวถึงปี 64
เมื่อวิกฤติโควิด-19 ส่อลากยาวถึงปี 2564 ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งโดนมรสุมโรคระบาดพัดกระหน่ำตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น จำเป็นต้องงัดแผนสำรอง สร้างภูมิคุ้มกัน รับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เล่าว่า เครือดุสิตธานีได้จัดเตรียม “แผนสำรองธุรกิจ” ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.แผนการเงินและบริหารกระแสเงินสดให้พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน โดยกระแสเงินสดตอนนี้ยังอยู่ไหวถึงสิ้นปี 2564 ประกอบด้วยเงินสดในมือ 1,260 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้ใช้ 1,250 ล้านบาท
“กลยุทธ์บริหารการเงินของเครือดุสิตธานีตอนนี้ จำเป็นต้องชะลอการลงทุนบางโครงการออกไปก่อน อาทิ แผนซื้อกิจการโรงแรมในประเทศอังกฤษกับญี่ปุ่น และแผนการขยายธุรกิจของอีลิธฮาเวนส์ (Elite Havens) ซึ่งเป็นธุรกิจให้เช่าวิลล่าระดับบนในเครือดุสิตฯ เดิมมีแผนจะขยายตลาดไปที่ออสเตรเลียและยุโรป เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกจะหยุดที่ตรงไหน จึงเน้นกอดเงินสดเอาไว้ก่อน”
นอกจากนี้ยังมีการทำ “Asset Optimization” ด้วยการขายสินทรัพย์หรือขายเงินลงทุนบางส่วนสำหรับโรงแรมบางแห่งที่ไม่ได้เป็น Strategic Asset โดยขณะนี้มีมูลค่าอยู่ในกระเป๋าราว 8,000 ล้านบาทตุนเอาไว้ก่อน ในกรณีหากมีปัญหา ก็สามารถเอาออกมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะไม่ต้องการสร้างภาระให้แก่ผู้ถือหุ้น
2.ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดกะทัดรัด จัดทัพพนักงานใหม่ให้ได้โครงสร้างที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น จากเดิมโรงแรมมีพนักงานขายประจำแต่ละแห่ง ก็ต้องปรับให้ดูแลการขายของโรงแรมเป็นกลุ่มพื้นที่ (คลัสเตอร์) แทน รวมถึงลดขั้นตอนหรือกระบวนการทำงานให้ซับซ้อนน้อยลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายและสร้างสมดุลใหม่ (Rebalance) ของต้นทุนในภาพรวม
และ 3.ปรับโมเดลธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ท่องเที่ยวทั้งระหว่างและหลังยุคโควิด-19 เน้นมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย ตอบโจทย์ลูกค้ารับวิถี New Normal ของภาคท่องเที่ยว ทั้งเรื่องความสะดวกสบาย ประสบการณ์ที่ตรงใจ และความคุ้มค่า
เนื่องจากเดิมอาจมองกันว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องไกลตัวภาคท่องเที่ยว แต่จริงๆ แล้วนำมาพัฒนาและปรับใช้ได้หลายอย่างมาก พร้อมชูจุดขายเรื่องการดูแลสุขภาพ นำมาผสมผสานกับบริการต่างๆ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และอีกจุดที่สำคัญคือมอบความยืดหยุ่นแก่ลูกค้า เพราะถ้าเข้มงวดกับกฎเดิมๆ ของการทำโรงแรมมากเกินไป อาจทำให้ไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว จำเป็นต้องเปลี่ยน Mindset ของพนักงานโรงแรมในเครือดุสิตฯให้สอดรับกับจุดนี้
“เครือดุสิตฯได้ประเมินซีนาริโอของสถานการณ์ท่องเที่ยวไว้ 3 สมมติฐาน ได้แก่ 1.เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในสิ้นปีนี้ ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ยาก น่าจะเริ่มจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างจำกัดมากกว่า 2.เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยช่วงกลางปี 2564 เป็นไทม์ไลน์ที่มีความเป็นไปได้ แต่ดีมานด์นักท่องเที่ยวอาจจะยังน้อยอยู่ และ 3.กรณีร้ายแรงที่สุด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้าไทยปลายปี 2564”
ศุภจี เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูส “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มูลค่ารวม 3.67 หมื่นล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือดุสิตฯกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ยืนยันว่ายังคงเดินหน้าต่อ ไม่ชะลอการลงทุน เพราะถือเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูงในระยะยาว รอรับลูกค้าหลังวิกฤติโควิดผ่านพ้น
ส่วนแผนการเปิดโรงแรมใหม่ เนื่องจากมีโควิดเข้ามา ทำให้ต้องชะลอการเปิดออกไปก่อน จากเดิมตั้งเป้าเปิด 10-12 แห่งต่อปี เหลือเฉลี่ย 5 แห่งต่อปี โดยปีนี้เปิดโรงแรมใหม่แล้วที่จีน กาตาร์ เกาะกวม และล่าสุดเพิ่งเปิดโรงแรมอาศัย กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ เมื่อกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รวมปัจจุบันเครือดุสิตฯเปิดให้บริการโรงแรมและวิลล่าของอีลิธฮาเวนส์รวม 340 แห่งใน 15 ประเทศ แบ่งเป็นโรงแรม 40 แห่ง และวิลล่า 300 แห่ง โดยในไตรมาส 4 ปีนี้เตรียมเปิดเพิ่มอีก 1 แห่งที่ประเทศสิงคโปร์
ศิรเดช โทณวณิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้บริหารโรงแรมแบรนด์ “อาศัย” เล่าเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทฯมีแผนเปิดโรงแรมแบรนด์อาศัยรวม 7 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทฯลงทุนเอง 3 แห่ง มีที่ไชน่าทาวน์ ขนาด 224 ห้องพัก ใช้เงินลงทุน 1,100 ล้านบาท, สาทร 12 ขนาด 106 ห้องพัก เตรียมเปิดไตรมาส 2 ปีหน้า และที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 111 ห้องพัก เปิดปี 2565 ส่วนรับบริหารอีก 4 แห่งมีที่ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา 1 แห่ง เปิดปลายปีหน้า และที่เซบู ประเทศฟิลิปปินส์ 3 แห่งซึ่งอาจเปิดล่าช้ากว่ากำหนดเดิมเพราะติดขัดจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดในฟิลิปปินส์