บริษัทญี่ปุ่นครอง 'สิทธิบัตรแบตเตอรี' 1 ใน 3 ของโลก
การแข่งขันผลิตแบตเตอรีเพื่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกทุกวันนี้ ญี่ปุ่น ถือเป็นผู้นำในการผลิต โดยบริษัทญี่ปุ่นยื่นขอสิทธิบัตรแบตเตอรีมากที่สุดในโลกในสัดส่วน 1 ใน 3 นำโดยบริษัทพานาโซนิคและโตโยต้า
บริษัทญี่ปุ่น ยื่นขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรีกับสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (อีพีโอ) และสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) เมื่อปี 2561 จำนวน 2,339 สิทธิบัตร เกือบสองเท่า ตามมาด้วยบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ที่ตามมาเป็นอันดับ2 คือมีจำนวนการยื่นขอสิทธิบัตร 1,230 สิทธิบัตร
เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกสองแห่งนี้แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อเป็นจ้าวตลาดแบตเตอรีที่ปัจจุบัน กำลังเป็นที่ต้องการเพื่อนำไปใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนบริษัทจีน ติดอันดับ4 ในการยื่นขอสิทธิบัตร ตามมาด้วยบริษัทสัญชาติอเมริกัน อยู่อันดับ5
ในช่วงปี 2543-2561 บริษัทญี่ปุ่นยื่นขอสิทธิบัตรแบตเตอรีเพิ่มขึ้น7แห่งจากบริษัทที่ยื่นขอทั้งหมด 10 แห่งแต่บริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ของเกาหลีใต้ รั้งอันดับ1 ด้วยจำนวนยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์จำนวน 4,787 สิทธิบัตร ส่วนบริษัทพานาโซนิค ที่ผลิตแบตเตอรีให้เทสลา ตามมาเป็นอันดับ2ด้วยจำนวนยื่นขอสิทธิบัตร 4,046 สิทธิบัตร ตามมาด้วยแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยื่นขอจดทะเบียนจำนวน 2,999 สิทธิบัตร ส่วนโตโยต้า ตามมาในอันดับที่4 ส่วนฮิตาชิ โซนี และบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ อยู่ในอันดับรองลงมาในท็อป 10
ช่วง 2 ทศวรรษมานี้ นวัตกรรมแบตเตอรีมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมโลก โดยการยื่นขอสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรีไฟฟ้ากับองค์กรระหว่างประเทศเมื่อปี 2561 เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,029 สิทธิบัตร ของปี 2543 ขณะที่นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรีลิเธียม-ไอออน ที่ถูกนำไปใช้ในโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค มีสัดส่วนประมาณ 45% ของการยื่นขอสิทธิบัตรแบตเตอรีในปี 2561
การพัฒนาเซลล์แบตเตอรีจะช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นบนพื้นฐานการชาร์จแบตฯครั้งเดียว และเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานประเภทนี้ยังช่วยเรื่องการส่งพลังงานที่จำเป็นเพื่อชดเชยกับการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ยังไม่เสถียร
แต่ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำด้านการยื่นขอจดสิทธิบัตรแบตเตอรี แต่ในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ญี่ปุ่นยังตามหลังอีกหลายประเทศ โดยรายงานล่าสุด บ่งชี้ว่า ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแบตเตอรีของญี่ปุ่น ไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดข้างมากในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลก
จีน เป็นประเทศที่เป็นจ้าวรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีรถยนต์ 1.1 ล้านคัน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ในปี 2562 ส่วนญี่ปุ่น มีสัดส่วนรถยนต์ประเภทนี้แค่2% เท่านั้น
ล่าสุด วานนี้ (23ก.ย.)ราคาหุ้นบริษัทเทสลา ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลงเกือบ 7% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการในช่วงเช้า หลังจากที่ปิดตลาดร่วงลง 5.6% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อวันอังคาร(22ก.ย.) หลังจาก“อีลอน มัสก์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)ของเทสลา กล่าวว่า แบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่เปิดตัวในงาน “Battery Day” ยังไม่สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากจนกว่าจะถึงปี 2565
เทสลา แสดงศักยภาพของแบตเตอร์รีรถยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่ในงาน “Battery Day” และเตรียมจัดการประชุมผู้ถือหุ้น โดยคาดว่า ที่ประชุมจะมีการเลือกประธานคณะกรรมการบริษัทที่เป็นสุภาพสตรี แม้จะมีเสียงคัดค้านก็ตาม
ในส่วนของแบตเตอรี แม้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณของวัสดุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรีกลับเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม ไม่ว่าจะเป็นธาตุสำหรับใช้ทำขั้วบวกขั้วลบของแบตเตอรีและโลหะที่นำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับทำตัวรับกระแส ซึ่งเทสลา คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ทั่วโลกจะขาดแคลนธาตุสำหรับผลิตแบตเตอรี ที่ใช้กับรถไฟฟ้า
ช่วงเดือนพ.ค.ปี 2562 ซาราห์ แมริสซาเอล หัวหน้าฝ่ายจัดหาแร่ของเทสลา กล่าวในการประชุมภายในของบริษัทว่า ในอนาคตอัตใกล้นี้บริษัทจะขาดแคลนแร่นิกเกิล, ทองแดง และลิเธียม ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการผลิตแบตเตอรีรถไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะแร่ทองแดง เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังมีเหมืองทองแดงไม่มากพอ ประกอบรถไฟฟ้าต้องการแร่ทองแดงในการผลิตมากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในถึง 2 เท่า