แนะผู้ประกอบการฉีดวัคซีนการตลาดเพิ่มทางรอดธุรกิจ
วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล เปิดผลสำรวจ 78% ผู้ประกอบการได้รับผลระทบจากโควิด-19 รอดเพียง 22% ขณะที่ 6 ธุรกิจวิกฤตสุด ท่องเที่ยว บันเทิง รับจ้าง การผลิต อาหาร ค้าขายปลีกส่ง แนะวัคซีนการตลาด VACCINES Strategy เพิ่มภูมิคุ้มกันธุรกิจ
วิทยาลัยการจัดการมหิดล โดยสาขาการตลาดได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการตัวอย่าง 450 ราย ผลสำรวจพบว่าประกอบการจำนวน 78% หรือจำนวน 350 ราย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด -19 และไม่ได้รับผลกระทบ 22% ซึ่งถ้าเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการ SMEsและ Start up ในประเทศไทยจำนวนกว่า 3 ล้านรายในปี 2562 และจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ Techsauce Global Summit 2019 พบว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สูงถึง 2.3 ล้านราย
ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าว พบว่า 74% มีรายได้ลดลง ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 6 อันดับแรก คือธุรกิจท่องเที่ยวที่มีรายได้ลดลง 73% ธุรกิจบันเทิง ลดลง 59% ธุรกิจรับจ้างบริการ 44% ธุรกิจการผลิต 42%ธุรกิจอาหาร 41% และธุรกิจค้าขาย ปลีกส่ง ธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจเกษตร ขนส่ง ซ่อมอะไหล่ เอเจนซี่และนำเข้าสินค้า ลดลง 38% ซึ่งผลกระทบดังกล่าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคธุรกิจ แบ่งเป็น 70%ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 18%ดำนเนินการปกติ 6% ลดขนาดธุรกิจ 4% เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นๆ และ2% เลิกกิจการ
"ลักษมณ เตชะสิริวิชัย" หัวหน้าทีมการนำเสนอวิจัย Never Normal Marketing วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกและเชิงปริมาณทางทีมวิจัยได้คิดค้นวัคซีน กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจ หรือ VACCINES Strategy ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทั้งนี้ วัคซีน VACCINES Strategy เพิ่มภูมิคุ้มกันในธุรกิจ ประกอบไปด้วยวัคซีนทั้งหมด 8 เข็ม ได้แก่ NE(V)ER NORMAL รอดในโลกใหม่ ที่ไม่เหมือนเดิม ทุกธุรกิจต้องพร้อมในการปรับ-เปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ DAT(A) DRIVEN ใช้ข้อมูลหาทางรอด ธุรกิจต้องเก็บข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างคลังข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการและต่อยอดธุรกิจ
(C)OLLABORATION รวมกัน เราอยู่ การทำพาร์ทเนอร์ชิพ มาร์เก็ตติ้ง สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี (C)ONTENT สื่อสารให้คลิ๊ก พลิกด้วยคอนเทนต์ เนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อใช้สื่อสารกับผู้บริโภค สร้างการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับดึงดูดความสนใจผู้บริโภค
NEW BUS(I)NESS รู้ รับ ปรับท่าใหม่ ทุกธุรกิจต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ผ่านการปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ และผลิตภัณฑ์ RESILIE(N)CE ยืดหยุ่น พร้อมปรับ ธุรกิจในยุคนี้ต้องมีโครงสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่น T(E)CH ADOPTION ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และGROWTH MIND(S)ET เติบโต แบบคิดต่าง ธุรกิจควรมองว่าวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนโอกาสให้ธุรกิจได้พัฒนา ผ่านการปฏิรูปการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการปรับโมเดลธุรกิจ
"บุญยิ่ง คงอาชาภัทร" ผู้ช่วยคณบดี ด้านสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่าตอนนี้การขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดได้นั้น ทุกคนต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เข้าสู่เรื่องของออนไลน์มากขึ้น และต้องปรับผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เหมาะสมกับการจัดส่งในรูปแบบออนไลน์ ต้องมีการจัดทำเนื้อหาในการนำเสนอผ่านออนไลน์ที่ดึงดูด เข้าใจง่าย เช่น การเล่าเรื่อง การสร้างความแตกต่างของแบรนด์เรา
ออนไลน์ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รับความนิยม แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ทุกคนต้องอยู่บ้าน ไม่ได้ไปตามร้านอาหาร ร้านค้าต่างๆแต่เป็นการชอปปิ้งซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์ผ่านออนไลน์มากขึ้น เช่น การใช้ food application ที่ตอนนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ดังนั้น การเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่ตลาดออนไลน์มีความจำเป็น เพื่อให้สอดคล้งกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และต้องคงไว้ซึ่งออฟไลน์ ต้องมีการผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์