เชื่อไร้ปัญหาฝ่ายค้านไม่ร่วม กมธ.ศึกษาร่างแก้ รธน.

เชื่อไร้ปัญหาฝ่ายค้านไม่ร่วม กมธ.ศึกษาร่างแก้ รธน.

"วิษณุ" ไม่รู้ รัฐบาลจะเสนอร่างแก้ รธน. เพิ่มเติมหรือไม่ เชื่อ ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม กมธ. ไม่มีปัญหาในอนาคตเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เมิน ส.ว.-นักวิชาการ ประเมินการเมืองนอกสภาแรงขึ้น

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 63 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชุมรัฐสภา ได้เลื่อนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาเพิ่มเติมโดยมีกรอบระยะเวลา 30 วัน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 121 วรรค 3 ก่อนจะนำกลับมาลงมติใหม่ในสมัยประชุมหน้าเดือย พ.ย. นี้ ว่า ขั้นตอนต่อไปจะนำผลประชุมมาแจ้งต่อที่ประชุมสภา ว่าคณะกรรมาธิการมีความเห็นอย่างไร และไม่ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ สามารถลงมติได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว นายวิษณุ เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในอนาคต เพราะเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง

ส่วนที่ ส.ว. ระบุว่า การยื้อเวลาไปอีก 30 วัน นั้นต้องการให้รัฐบาลส่งร่างเข้าไปร่วมรับฟังความเห็นด้วย นายวิษณุ ระบุว่า รัฐบาลไม่เคยพูดคุย และไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนพูดเช่นนั้น และหมายความว่าอย่างไร อาจจะเดาไปเอง ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ก็มีอยู่ เพราะคนที่จะเสนอขึ้นไปได้ คือคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภา และประชาชน 5 หมื่นคน และหากคณะรัฐมนตรีต้องการส่งร่างเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นก็ใช้เวลาไม่นาน เพราะจะช้าเฉพาะตอนที่จัดทำร่าง และหากรัฐบาลมีความต้องการที่จะส่งเข้าร่วมก็สามารถเสนอในอีก 1 เดือนข้างหน้าพร้อมกันได้ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่าที่ ส.ว. เสนอ เพราะอยากเห็นแต่ จะเห็นหรือไม่นั้น
ไม่ทราบ

นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หากรัฐบาลประสงค์ที่จะทำร่าง ก็ต้องหารือกันในพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ซึ่งแต่ละพรรคเห็นไม่ตรงกัน และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะทำร่างของรัฐบาลได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้ร่างกลางของพรรคร่วมรัฐบาลโดยให้ ส.ส.ร.ไปคิดวิธีการ ส่วนจุดเปลี่ยนที่ทำให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมมาศึกษา เพราะมีความเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นกังวล จึงต้องให้คณะกรรมาธิการร่วมได้พิจารณาก่อน และเป็นโอกาสดีที่ร่างของภาคประชาชน iLaw จะถูกนำเข้าไปคุยกันในคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย เพราะหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ iLaw คล้ายกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม 6 ฉบับก่อนหน้านี้ ไม่น่าจะมีปัญหา ข้อบังคับข้อ 41 มีข้อยกเว้นว่าญัตติที่เสนอไปแล้วในสมัยประชุมเดียวกันตกไป จะเสนอไม่ได้อีกในสมัยประชุมนั้น เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังมองว่าการตั้งกรรมาธิการร่วม คงไม่ใช่เทคนิคของสภา เพราะเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ ตั้งแต่มีการพิจารณาจัดทำข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ก็มีการเขียนในลักษณะนี้มาทุกยุคสมัย และแนวทางปฏิบัติก็มีการใช้กันสำหรับร่างพระราชบัญญัติ และก็มีการใช้มาแล้วหลายครั้ง พร้อมปฏิเสธแสดงความคิดเห็นกรณีที่ ส.ว. และนักวิชาการบางกลุ่ม ประเมินการเมืองนอกสภารุนแรงขึ้น ว่า “ผมไม่มอง” และไม่ทราบ ไม่มีความเห็นเรื่องที่มีการนัดชุมนุมในเดือนหน้า