วิเคราะห์ความเสี่ยงไทยนำเข้าโควิด-19จากต่างชาติ

วิเคราะห์ความเสี่ยงไทยนำเข้าโควิด-19จากต่างชาติ

สธ.ระบุ 10 ประเทศโควิด-19ผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก เจาะความเสี่ยงไทยรับต่างชาติเข้าประเทศไทย เผยเป้าหมายทำงาน 3 ข้อหลัก ตรวจพบผู้ติดเชื้อเร็ว- ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด-สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคมและเศรษฐกิจ

 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า 10 ประเทศที่มีการแพร่ระบาดและรายงานยืนยันผู้ติดโควิด -19มากที่สุดในโลกอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ 1. อินเดีย 2.สหรัฐอเมริกา 3.บราซิล 4.อาร์เจนตินา 5.สเปน 6.รัสเซีย 7.ฝรั่งเศส 8.อังกฤษ 9.โคลอมเบีย และ10.อิรัก ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีการแพร่ระบาดและมีการรายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลก ก็จะมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะเจอผู้ติดเชื้อจากผู้เดินทางจากต่างประเทศ แต่ตอบยากว่าเชื้อที่ตรวจเจอนั้นยังสามารถแพร่ต่อไปได้หรือไม่ได้ เป็นการเพิ่งติดเชื้อก่อนมาไทยหรือติดนานแล้ว จึงต้องเสริมด้วยการเจะเลือดตรวจหาภูมิคุ้มกัน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงของการพบผู้ป่วย หรือมีการแพร่โรคในประเทศไทยจากผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับ 1.จำนวนผู้เดินทาง หากเข้ามาจำนวนมากโอกาสที่จะเจอผู้ติดเชื้อก็จะมีมากขึ้น และ2.ประเทศต้นทางที่เข้ามา หากต้นทางเป็นพี้นที่การระบาดรุนแรง โอกาสที่ผู้เดินทางมาจากประเทศนั้นจะติดเชื้อเข้ามาด้วยก็มีโอกาสสูง อย่างไรก็ตาม เมื่อเจอผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ ในปัจจุบันทุกคนยังอยู่ในการกักตัวทั้งหมด

ดังนั้น โอกาสที่คนติดเชื้อจะมาแพร่โรคในประเทศไทยนั้นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ 1. เมื่อถูกส่งไปที่สถานกักกันแล้ว มาตรฐานการป้องกันควบคุมโรคในสถานที่กักตัวทำได้ดีมากเพียงพอหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาสธ.มีการกวดขันสถานที่กักตัวทุกประเภทอย่างเต็มที่ มีการกระตุ้นเตือนอยู่ตลอดเวลาเพราะฉะนั้น ขณะนี้สถานที่กักตัวทุกแห่งยังคงมาตรฐานการป้องกันการแพร่เชื้อได้เป็นอย่างดี และ2.เมื่อไปถึงสถานพยาบาลที่จะต้องดูแลผู้ป่วยก็จะขึ้นอยู่กับ มาตรฐานในการป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งมีมาตรการป้องกันที่สูง ทั้งการดูแลผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิดพร้อมกับป้องกันเจ้าหน้าที่และป้องกันผู้ป่วยรายอื่นอย่างเต็มที่ โอกาสแพร่เชื้อในโรงพยาบาลก็ต่ำมากๆ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมามีการพบผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ระยะหลังไม่มีรายงานบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากผู้ป่วย

อีกส่วนคือ ความรุนแรงของโรคในกลุ่มผู้ติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากโอกาสแพร่เชื้อก็สูง โดยเฉพาะรายที่ต้องทำหัตถการทางระบบหายใจ เช่น ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ที่ผ่านมา ผู้เดินทางเข้าประเทศส่วนใหญ่จะเป็นคนหนุ่มสาว และคนที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ก็จะมีสุขภาพแข็งแรง โอกาสที่จะมีความรุนแรงของโรคก็ลดน้อยลงดังนั้น ปัจจุบันคนเดินทางทุกคนยังต้องเข้าสถานกักตัว โดยหลักการและความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่โรคจากกลุ่มที่เดินทางเข้ามาในประเทศจึงไม่ได้มีโอกาสสูงมาก และประเทศไทยก็มีวิธีการในการจัดการกับโอกาสการแพร่ระบาดของโรคอย่างเต็มที่

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิบัติในระยะต่อไป วัตถุประสงค์การทำงานไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นในประเทศเลย เพราะหากต้องการแบบนี้คงต้องปิดประเทศสนิทไม่ให้เดินทางเข้ามาในประเทศเลยและคงหลายมาตรการที่เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เป้าหมายของการปฏิบัติ คือ การตรวจพบผู้ติดเชื้อให้ได้โดยเร็วและควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดให้ได้ ไม่ให้ออกไปในวงกว้างหรือแพร่ระบาดในระดับวิกฤติ รวมถึง การสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีชีวิต วิถีทางสังคมและเศรษฐกิจ

“หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าการที่ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ติดโควิดในประเทศ ก็คือ โควิดไม่สามารถทำร้ายคนไทยได้ แต่ในความเป็นจริงชีวิตของเราไม่ได้เป็นปกติ หลายคนได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง หลายคนได้รับผลกระทบบ้าง แต่ทุกคนได้รับผลกระทบหมด เพราะฉะนั้นโควิดสมารถทำร้ายคนไทย โดยไม่จำเป็นต้องพบผู้ป่วยในประเทศ แต่ทำร้ายด้วยวิธีการอื่น เช่น การมีชีวิตที่ยากมากขึ้น มีเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมากขึ้นและเศรษฐกิจฝืดเคืองในระยะยาวจะมีผลกระทบกับสุขภาพของหลายๆคน และจะมีผลกระทบด้านอื่นๆ ดังนั้นการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพ วิถีทางสังคมและเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ”นพ.ธนรักษ์กล่าว