10 ข้อเท็จจริง "ความรุนแรงต่อเด็กไทย" ที่ต้องทราบ
มูลนิธิศุภนิมิตฯรวบรวม 10 ข้อเท็จจริงความรุนแรงต่อเด็ก ในประเทศไทยที่ทุกคนควรต้องทราบ พร้อมย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมกันยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็ก
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" สุภาษิตไทยที่ทุกคนได้ยินมาตั้งแต่เด็ก และเป็นความคุ้นชินของสภาพสังคมไทยที่จะพบเห็นพ่อแม่ตีลูก ทำโทษลูกเมื่อลูกกระทำ และไม่ใช่เพียงในครอบครัวเท่านั้น "ไม้เรียว" ก็เป็นอีกหนึ่งการทำโทษในโรงเรียน จนหลายคนกล่าวได้ว่า ได้ดีเพราะไม้เรียว ทว่าหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันนี้คงไม่แน่ชัดว่า การทำโทษ การตีเด็ก การใช้ไม้เรียวต่อเด็ก เป็น การอบรมสั่งสอน หรือความรุนแรงในเด็กกันแน่
จากการรวบรวมของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้สรุป "ข้อเท็จจริง 10 ประการที่ทุกคนต้องทราบเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย" พบว่า 1.ความรุนแรงต่อเด็กสามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ทั้งการกระทำ การทารุณกรรม การละเลย หรือการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก
2.ความรุนแรงทางอารมณ์และร่างกายเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด โดยเด็ก 62% หรือคิดเป็น3 ใน5 ของเด็กอายุ 1-14 ปี เคยประสบความก้าวร้าวทางอารมณ์ และเด็ก 56% หรือกว่าครึ่งของประชากรโดยเด็กอายุ1-14ปี เคยถูกทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกาย เด็กอายุ 1-14ปี จำนวน4% ในประเทศไทยเคยถูกครอบครัวอบรมสั่งสอนลูกหลานด้วยการทำโทษด้วยวิธีที่ร้ายแรงที่สุด
3.การลงโทษเด็กด้วยการทำร้ายร่างกาย ถือเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ประเทศไทย เป็นประเทศที่อยู่ในลำดับที่ 7 จาก75 ประเทศ ที่มีความเชื่อว่าการลงโทษด้วยการทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการอบรมสั่งสอนเด็ก ซึ่งเด็กช่วงอายุระหว่าง 3-4 ปี เป็นช่วงอายุที่ถูกทำโทษด้วยวิธีที่รุนแรงมากที่สุดเช่น การตีก้น ตีด้วยมือ ตีมือหรือแขนขา จับเด็กเขย่าหรือการใช้สิ่งของตีเด็ก และการตบศีรษะ ตบป้องหู หรือตบหน้าเด็ก กระหน่ำตีเด็กอย่างรุนแรง
4.การทำร้ายเด็กส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจ นั่นคือ มีการคาดการณ์ว่าการกระทำรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบก่อให้เกิดความสูญเสียทั่วโลกคือเป็นมูลค่า ถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การทารุณเด็กก่อให้เกิดความสูญเสียคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 209 ร้อยล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเท่ากับ7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2% ของจีดีพีของภูมิภาค
5.เด็กกลุ่มเปราะบางมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะประสบความรุนแรง พบว่า ปัจจัยเสี่ยงบางประการ เช่น เด็กที่ป่วยเรื้อรัง หรือทุพพลภาพ และเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนหรือพ่อแม่หย่าร้าง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการที่เด็กจะได้รับความรุนแรงมากขึ้น และหากเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการประกอบกันจะมีความเสี่ยงที่จะประสบความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
6.สิ่งที่เราทราบเกี่ยวกับความรุนแรงต่อเด็กเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
7.ประเด็นความรุนแรงต่อเด็กมีประกอบในกฎหมายและนโยบายระดับประเทศอยู่มากมาย แต่การบังคับใช้จริงยังมีความล่าช้า
8.เราจำเป็นต้องสร้างกลไกปกป้องคุ้มครองเด็กร่วมกัน เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก
9.การยุติความรุนแรงต่อเด็กจำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงภายในหัวใจและความคิด
10.เราทุกต้องยุติความรุนแรง การยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ในภาคเอกชน ต้องร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็ก