นายกฯ ดันสะพานไทย 9 แสนล้าน เชื่อมชลบุรี-เพชรบุรี 100 กม.
กพอ.ดันเมกะโปรเจคใหม่ “อีอีซี” 1.2 ล้านล้านบาท ชูแหลมฉบังเชื่อมภูมิภาค สร้างสะพานไทยจากชลบุรี-เพชรบุรี 100 กม. หนุนท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า คาดเสร็จปี 2575 เร่งศึกษาแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร
การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดำเนินการมาต่อเนื่องในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา โดยโครงสร้างพื้นที่สำคัญที่ลงนามแล้ว คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าอีอีซีเริ่มสำเร็จแล้วจำเป็นต้องโครงการใหม่มาสร้างแรงจูงใจการลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์)
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้ติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนในอีอีซี โดยการประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งตั้งเป้าที่จะลงนามร่วมลงทุนภายในปี 2563
การประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ช่วงเจรจาขั้นสุดท้ายกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากจีน ซึ่งจะเสนอ กพอ.ในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าและตรงกับข้อกำหนดทีโออาร์หรือไม่
กพอ.จะเป็นผู้พิจารณาหลายประเด็น โดยหากมีปัญหาบางประการขัดกับมติ กพอ.เดิมก็อาจต้องหารือในที่ประชุมแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การประมูลเดินหน้าต่อไป เพราะหากจะเริ่มประมูลใหม่จะต้องเสียเวลาอีกกว่า 1 ปี
ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเปิดให้บริการท่าเทียบเรือ F ตั้งแต่ปี 2567 และการพัฒนาท่าเทียบเรืออื่นให้มีความจุ 18 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปีภายในปี 2572 เพื่อให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าการลงทุน และเสริมยุทธศาสตร์ที่ไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค รวมถึงเชื่อมเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) กับอีอีซี เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และลดระยะเวลาและขั้นตอนการขนส่งสินค้า
รายงานข่าวจาก สกพอ.ระบุว่า กพอ.เห็นชอบแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.โครงการสะพานไทยที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรี และ จ.เพชรบุรี) ระยะทาง 80-100 กิโลเมตร ประหยัดเวลาเดินทาง 2–3 ชั่วโมง โดยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าจะใช้เวลาการก่อสร้าง 10-15 ปี
สำหรับลักษณะโครงการจะมีอุโมงค์ลอดใต้ทะเลจะฝั่งแหลมฉบังและฝั่งเพชรบุรี เพื่อให้เรือสามารถเดินทางเข้าออกในทะเลอ่าวไทยได้ และจากนั้นจะยกระดับขึ้นเป็นสะพานบนเกาะกลางอ่าวไทย รวมมูลค่าการลงทุน 990,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2575
2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชี่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่ง ด้วยรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์
รายละเอียดโครงการแบ่งเป็นการปรับปรุงท่าเรือระนอง ท่าเรือชุมพร 15,037 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2568 รวมถึงการพัฒนาแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ท่าเรือ 45,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2568 การพัฒนารถไฟทางคู่พานทอง-หนองปลาดุก 95,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2570 และการพัฒนารถไฟทางคู่ประจวบฯ-ชุมพร 12,457 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2564
3.โครงการท่าเรือบก (Dryport) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และ สกพอ.จะเชื่อมท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาท่าเรือบกในเมืองสำคัญ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต (ลาว) ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (เมียนมา) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม)
โครงการท่าเรือบกจะรองรับสินค้าไทย-จีนตอนใต้ผ่านรถไฟ ซึ่งช่วยให้ให้สินค้าจากจีนตอนใต้ผ่านไทยมาท่าเรือระนองทางฝั่งทะเลอันดามันจะประหยัดเวลา 4-5 วัน หรือลดเวลาได้ 30-50% เมื่อเทียบการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกวางโจวอ้อมแหลมมะละกาไปอินเดีย รวมทั้งเป็นเส้นทางขนส่งผลไม้ และสินค้าไทยจากภาคตะวันออกไปยังจีนตอนใต้ได้รวดเร็วขึ้น
โครงการท่าเรือบกในไทยกำหนดไว้ที่ จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 8,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2566 รวมถึง จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา วงเงิน 16,000 ล้านบาท สร้างเสร็จปี 2567
นอกจากนี้เมื่อรวมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ด้วยที่มีมูลค่าการลงทุน 92,535 ล้านบาท จะทำให้แนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ มีมูลค่าการลงทุนรวม รวม 1.27 ล้านล้านบาท
ทั้ง 3 โครงการ ที่ประชุม กพอ.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ) กำกับการบูรณาการโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงคมนาคม และสกพอ. ร่วมกันศึกษาโดยเน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน และการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศและประชาชน