ชู "ผู้บริหาร-ครูอาชีวะ" ผู้นำยุคดิสรัปชั่น
"อาชีวะยกกำลังสอง" เน้นสร้างคุณภาพนำปริมาณ ขณะที่ "สุชัชวีร์" ย้ำผู้บริหาร ครูอาชีวะ ผู้นำในยุค ดิสรับชั่น เป็นผู้สร้างชาติ สหวิชาชีพของประเทศ พร้อมรับมือเข้าสู่ Localization
จากการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพิธีเปิด มอบนโยบายการขับเคลื่อนสถานศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2564 ที่ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา(กอศ.) บรรยายพิเศษ "อาชีวศึกษายกกำลังสอง" ตอนหนึ่งว่า ตามกรอบอาชีวะยกกำลังสอง จะขับเคลื่อนอย่างไรให้เป็นไปตามกรอบนโยบายที่ต้องมุ่งเน้นกระบวนการจัดการเรียนการสอน สถานการณ์จริง ในสถานประกอบการชั้นนำ โดยครู บุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ สู่ผู้เรียนเก่ง ผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นสถานศึกษาที่มีศักยภาพ เป็นเสมือนวงคุณภาพของอาชีวศึกษา
"นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)ให้ความสำคัญในการพัฒนายกระดับการเรียนการสอน และเด็กอาชีวศึกษาอย่างมาก ซึ่งการจะทำให้เด็กในเมืองไทยมาเรียนอาชีวะได้นั้น ต้องทำให้เขาเรียนและเกิดความภาคภูมิใจอาชีวศึกษาต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ หรือทำอาชีวะยกกำลังสองที่เน้นคุณภาพ นำปริมาณ เพราะถ้าเราทำคุณภาพได้ ปริมาณจะมาตามความเชื่อมั่นของนักเรียน ผู้ปกครอง และสถานประกอบการว่าเด็กอาชีวะทำงานเป็น ทำงานได้"ดร.สุเทพ กล่าว
ทั้งนี้ โดยสถาบันอาชีวศึกษาต้องพัฒนาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญเฉพาะ รวมถึงต้องยกระดับศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการรีสกิล อัพสกิล และสร้างนิวส์สกิลใหม่ๆ มีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยและมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ภายใต้การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนเน้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ ในศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะทางวิชาชีพ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และมีทักษะดิจิทัล โดยทุกวิทยาลัยอาชีวศึกษาสามารถทำงานร่วมกันต้องใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ แต่ต้องประสานงานเชิงลึกว่าจะใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างไร
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) บรรยาย “อาชีวะป่วน โลกเปลี่ยน”ว่าสิ่งที่ทำให้ตนได้เรียนมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก และเป็นนักเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก เพราะเกิดและโตมาจากวิทยาลัยเทคนิค เป็นลูกคนเดียวของพ่อและแม่เป็นครูวิทยาลัยเทคนิค ซึ่งคนไทยมักจำสุภาษิต จงทำดี อย่าเด่น จะเป็นภัย เพราะไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน แต่ในยุคดิสรัปชั่นนี้ต้องเปลี่ยนสุภาษิต เป็นจงทำดี ทำให้เห็น ให้คนเห็น แล้วทำตาม ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะสู้คนอื่นไม่ได้ และผู้บริหาร ครูอาชีวะทุกคนเป็นผู้นำสูงสุดในยุคดิสรัปชั่น เป็นผู้สร้างชาติ สหวิชาชีพของประเทศ และเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างลูกศิษย์ทำดี และทำให้ทุกคนเห็นตัวอย่าง เมื่อเห็นตัวอย่างจะทำให้เกิดความมุ่นมั่นและอยากมาเรียนอาชีวะ
"ผมอยากเห็นลูกครูอาชีวะทุกคนที่เข้ามหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง ได้เหมือนกับผม และอยากเห็นอนาคตของเด็กม.3 อยากเรียนสายอาชีพ อาชีวะมากกว่าเด็กสามัญ วันนี้โลกไม่เหมือนเดิม ตอนนี้เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่สู้แบบสุดๆ เพียงวันเดียวก็อาจจะสูญพันธุ์ได ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ทำให้การเคลื่อนคน เคลื่อนเงิน และเคลื่อนข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อดีตคนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกามาลงในตลาดหุ้นไทย สร้างโรงงานในไทยแต่ตอนนี้เขาเอากลับไปหมดแล้ว เพื่อไปจ้างงานคนในประเทศของเขาที่กำลังว่างงานมหาศาล เพราะการว่างงานไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเศรษฐกิจแต่เป็นปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว อาชญากรรม เป็นต้น"ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ดังนั้น ตอนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องGlobalization แต่มาเป็น Localization ต้องสร้าง ผลิต และขาย ไม่ใช่รอแต่ซื้ออย่างเดียว นอกจากนั้น เมื่อเกิดวิกฤต ประเทศอื่นๆ คนทั้งประเทศหรือชนชาติเป็นผู้นำร่วมกันแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม การเป็นครูอาชีวศึกษา ไม่ใช่เป็นเรื่องเครื่องมือหรืออุปกรณ์ แต่เป็นเรื่องแพชชั่นหรือความหลงใหล ความภาคภูมิใจของผู้บริหาร และครูอาชีวะ ไม่อยากให้ใครมาเป็นเพราะตำแหน่งเท่านั้น