บัตรทอง '10ล้านคน 9 จังหวัด' นำร่อง '2 บริการใหม่' เริ่ม '1 พ.ย.'นี้
คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) มีมติเห็นชอบนโยบาย“ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือบัตรทอง ภายใต้แนวคิด “ไม่มีผู้ป่วยอนาถา และสามารถรับบริการได้ทุกที่” เริ่มต้นใน 4 บริการ โดยบางส่วนนำร่องในพื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเขต9
การยกระดับบัตรทอง เกิดขึ้นจากที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. ประกาศนโยบาย “สิ่งที่ต้องการเห็น คือ ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ที่ไหนเมื่อเจ็บป่วยรัฐดูแลหมด เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเดินหน้าเข้าสู่คำว่า ครอบจักรวาลจะต้องทั่วถึง ทั่วหน้า เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ไม่แบ่งแยก ไม่มีข้อยกเว้น” นำมาสู่การพิจารณาของอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ในบอร์ดบัตรทอง
4 บริการเริ่มต้นภายใต้นโยบายยกระดับบัตรทอง ประกอบด้วย 1.ประชาชนเจ็บป่วยไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ในระบบบัตรทอง นำร่องในพื้นที่ กทม. มีประชากรสิทธิบัตรทองราว 2,949,601 คน และปริมณฑล4จังหวัดจตุรทิศ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวม 2,895,196 คน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
2.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว นำร่องในพื้นที่เขต 9 มี 4จังหวัด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ รวม 4,922,576คน เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ส่วนใน กทม. และปริมณฑล จะเริ่ม 1 มกราคม 2564 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ 2 บริการนี้ที่จะเริ่มในวันที่ 1พ.ย.นี้ มีประชากรสิทธิบัตรทอง รวม 9 จังหวัด ประมาณ 10 ล้านคน
3.โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ประชาชนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จะได้รับใบรับรองและประวัติหรือโค้ด(Code) เพื่อเลือกรับบริการที่อื่นได้ผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช. 1330, แอปพลิเคชัน สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะโรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมเข้าร่วม โดยจะเริ่มในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั่วประเทศ วันที่ 1 มกราคม 2564 และ4. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน ประชาชนเปลี่ยนหน่วยบริการเองผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. จะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2564
“นพ.พงษ์เกษม ไข่มุกด์” ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 9 กล่าวว่า พื้นที่เขต 9 ครอบคลุม 4 จังหวัด คือ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ และชัยภูมิ ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องต้นทุนทั้งเรื่องทรัพยากรบุคคลที่มีเจตนาในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนเรื่องต่างๆน่าจะเป็นไปได้ง่าย แต่อาจจำเป็นต้องสื่อสารทำความเข้าใจในบางประเด็นเพิ่มเติม เบื้องต้นได้ทำความเข้าใจกับผู้ให้บริการผ่านผอ.รพ.และนายแพทย์สาธารสุขจังหวัด(นพ.สสจ.)
ที่ผ่านมาบางจังหวัดในเขต เช่น บุรีรัมย์แทบไม่ต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลหน่วยบริการต่างๆภายในจังหวัดอยู่แล้ว จึงจะขับเคลื่อนเพิ่มเติมใน 3 จังหวัด โดยจ.นครราชสีมา ซึ่งโรงพยาบาลมหานครราชสีมาเป็นรพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทำให้ประชาชนต้องการที่จะเข้ารับบริการที่นี่จำนวนมาก จะเริ่มต้นในส่วนของผู้ป่วยในก่อน เช่น ผ่าตัด รักษามะเร็ง เป็นต้น ด้วยการบริหารจัดการหน่วยบริการภายในเขต
ขณะนี้ได้วางระบบเทคโนโลยีรองรับเพื่อดูว่ารพ.ไหนมีคิวว่างอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการบริหารจัดการ ส่วนผู้ป่วยนอก วางแผนเป็นเครือข่าย บริการสุขภาพ หรือ โหนด(NODE) จะทำให้ผู้รับบริการเข้ารับบริการปฐมภูมิตามหน่วยบริการที่เป็นโหนดได้ทุกที่
“การให้อำนาจเขตสุขภาพบริหารจัดการเองเป็นข้อดี อย่างการกระจายคนหรือหมุนคน จะทำให้บางพื้นที่ที่มีคนไข้ 140% แต่คนทำงานน้อยกว่าภาระงาน ก็อาจจะดึงคนจากอีกพื้นที่ที่ภาระงานไม่ได้ชนเพดานมาทำงาน แต่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมและอาจจะมีสวัสดิการบางอย่างเพิ่มเติม เป็นการเพิ่มสมรรถนะให้แต่ละพื้นที่มีศักยภาพขึ้นมาพร้อมๆกัน ส่วนข้อดีที่ประชาชนจะได้รับทำให้ได้รับการแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ในบางจังหวัดการพัฒนาบางเรื่องไม่ดีทัดเทียมบางจังหวัด ก็กระจายการพัฒนาไปในพื้นที่ที่ยังขาด ประชาชนในพื้นที่ก็จะได้รับบริการมากขึ้น”นพ.พงษ์เกษม กล่าว
สำหรับพื้นที่ปริมณฑล 4 จังหวัด คือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ รวมถึงจ.สมุทรสาคร เมื่อปี 2562 สธ.ได้ดำเนินการพัฒนาโรงพยาบาลในพื้นที่เหล่านี้ ภายใต้แนวคิด “รพ.จตุรทิศ” เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลทุกระดับ ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายประชากรสูง เกือบ 50 %ของผู้รับบริการเป็นคนนอกพื้นที่ โรงพยาบาลต้องรับภาระหนัก หากไม่มีการจัดระบบรองรับที่ดีจะเกิดปัญหาทั้งความแออัด ระยะเวลารอคอยรักษา และที่สำคัญผู้ป่วยล้นต้องถูกส่งต่อเข้าไปที่โรงพยาบาลใน กทม.โดยได้รับงบอัดฉีดพิเศษเป็นการพัฒนาเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลทั้งจังหวัด เพื่อดูแลประชาชนได้โดยไม่ต้องส่งต่อ ครอบคลุมทั้งคนในพื้นที่ตามทะเบียนราษฎร์และคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงาน
ขณะที่ กทม. ซึ่งจะเป็นพื้นที่แรกที่จะเริ่มนำร่องกรณีเจ็บป่วยไปรับบริการหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้นั้น จากที่มีกรณีการตรวจพบการเบิกจ่ายเท็จของหน่วยบริการปฐมภูมิคือ “คลินิกชุมชนอบอุ่น”จึงต้องยกเลิกการเป็นหน่วยบริการบัตรทอง 175 แห่ง ส่งผลให้ผู้อยู่ในสิทธิบัตรทองเขตกทม.กว่า 1 ล้านคนไม่มีหน่วยบริการประจำ ถือเป็นผู้ได้รับสิทธิพิเศษ คือ “หากเจ็บป่วยเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดก็ได้ที่อยู่ในระบบบัตรทอง” ดังนั้นแล้ว อาจเรียกได้ว่าพื้นที่กทม.มีการเริ่มต้น “ให้สิทธิบัตรทองรักษาทั่วไปในหน่วยบริการปฐมภูมิคู่สัญญาแห่งใดก็ได้”ไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่อาจจะต้องออกแบบระบบเพิ่มเติมเพื่อให้รองรับการดำเนินการเรื่องนี้มากขึ้น