สธ.เตรียมเตียงรับผู้ป่วยโควิดสูงสุด 1,700คนต่อวัน
สธ.ยกทีมผบ.แถลงแผนเตรียมรับมือโควิด19รอบใหม่ในไทย ฉาย3ฉากทัศน์ระบาดต่างจากรอบ1สิ้นเชิง ตั้งเป้าควบคุมโรคให้ได้ใน 1 เดือน ทั่วประเทศมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้สูงสุด 1,700 คนต่อวัน สำรองยารักษาผู้ป่วยหนักกว่า 9,000 คน มีห้องแล็ปตรวจหาเชื้อ 230 แห่ง
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงสธ. แถลงข่าว “เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาดรอบใหม่”ว่า การเปิดประเทศจะต้องมีมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้นต่อไป โดยมีการจำลองการระบาดรอบใหม่ใน 3 รูปแบบ คือ 1.มีผู้ติดเชื้อ 1 รายหรือ 2 รายและเข้าไปควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย 2.หลังจากมีผู้ป่วยรายที่ 1 อาจจะมีการระบาดในกลุ่มเล็กๆ คาดว่าจะมีประมาณ 10-20 ราย อาจจะมีลูกใหญ่บ้าง เล็กบ้างแต่สามารถควบคุมได้ภายในระยะเวลาอันสั้นไม่ให้เกิน 3 -4 สัปดาห์ และ3. เป็นแบบที่ไม่อยากให้เกิดคือเมื่อมีรายแรกเกิดขึ้นก็เกิดการแพร่ระบาดไปในวงกว้าง100 - 200 คน เหมือนกรณีสนามมวย ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น หากประชาชนให้ความร่วมมือ ด้วยการการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และผู้ประกอบการก็ร่วมมือในการจัดการต่างๆ
"แต่ละฉากทัศน์จะต้องขอความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก เพราะถ้าต่ำกว่า 85 %แทบจะไม่สามารถช่วยอะไรได้ จึงขอให้ร่วมกันส่วนหน้ากากให้มากกว่า 85 - 90 % ร่วมกับการเว้นระยะห่างและล้างมือบ่อยๆ หากมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่นให้รีบปรึกษาแพทย์ รวมถึงสแกน Application ไทยชนะ เพื่อทำให้ง่ายต่อการติดตามเมื่อมีผู้ติดเชื้อ" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
0คุมโรคให้ได้ใน 1 เดือน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สิ่งที่ยังต้องดำเนินการต่อไปคือ การสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ ยังต้องเน้นการป้องกัน การควบคุมโรคให้เร็ว ซึ่งปัจจุบันมีทีมสอบสวนโรคเร็ว 1,000 ทีม เตรียมเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า ซึ่งเป้าหมายในการควบคุมโรค คือ หากพบการติดเชื้อต้องดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-4 สัปดาห์ ลดอัตราป่วยตายต่ำกว่า1.4% มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย โดยเฉพาะเพิ่มศักยภาพจังหวัดในการจัดการโควิด มีระบบบัญชาการเหตุการณ์ด้านสาธารณสุข ทุกจังหวัดมีแผนเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมแผน
กลุ่มเป้าหมายการเฝ้าระวังและตรวจทางห้องปฏิบัติการโควิด-19ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ตรวจเชื้อทางในห้องแล็ป ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ และอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในทุกโรงพยาบาล 2.กลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ เช่นผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานต่างด้าวพื้นที่ชายแดน และ3.กลุ่มอื่นๆตามสถานการณ์ เช่น นักกีฬาฟุตบอลไทยลีก นอกจากนี้ ต้องมีการตรวจค้นหาในการสอบสวนทางระบาดวิทยา กรณีพบผู้ป่วยยืนยัน ดังนี้ การติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน กรณีพบผู้ป่วยต่อเนื่องเกิน 28 วัน
0 เตียงรองรับสูงสุดได้1,700คนต่อวัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ในเรื่องของเตียงรองรับหากมีผู้ป่วยโควิด ขณะนี้มีเตียงกว่า 20,000 เตียงทั่วประเทศ โดยการรับผู้ป่วยนั้นจะพิจารณาจากคนไข้ที่มีอาการหนักที่อยู่ในห้องไอซียู โดยตัวเลขจากการระบาดรอบแรกคนไข้นอนไอซียู พบนอนเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ดังนั้น การเตรียมพร้อมครั้งนี้ ในกทม. สามารถรองรับได้ 230-400คนต่อวัน ขณะที่ทั่วประเทศสามารถรองรับได้ 1,000-1,740คนต่อวัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อในขณะนั้น จึงขอให้มั่นใจได้ว่ามีความพร้อม
0 สำรองยาผู้ป่วยหนักกว่า9,000 ราย
นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมทรัพยากรรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อมูล ณ วันที่ 7 ต.ค.2563 มีการสำรองยากรณีผู้ป่วยอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับยา โดยยาฟาวิพิราเวียร์ 628,304 เม็ด สำหรับผู้ป่วย 8,900 ราย ยาเรมเดซิเวียร์ 795 ขวด สำหรับผู้ป่วย 126 ราย หน้ากากN95 คงเหลือ 2,257,471 ชิ้น ชุดPPE คงเหลือ 1,959,980 ชิ้น มี 40 โรงงานกำลังการผลิต 6 หมื่นชุดต่อวัน และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ คงเหลือ 50,922,050 ชิ้น
0 เตรียมพื้นที่4จ.รับต่างชาติ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า มีการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยในกลุ่มพำนักระยะยาว(Special Tourist VISA:STV) มีการเตรียมเรื่องพื้นที่ตั้งแต่สนามบินจนถึงสถานที่กักกัน ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยว 4 จังหวัด คือ ภูเก็ต เกาะสมุยจ.สุราษฎร์ธานี บุรีรัมย์ และชลบุรี โดยมีการเตรียมสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine)ไว้แล้ว 84 แห่ง และสถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่ (Alternative Local State Quarantine) 12 แห่ง
0ประกาศราคากลางตรวจเชื้อ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาการอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีห้องแล็ปตรวจหาเชื้อได้ 230 แห่งกระจายอยู่ใน 73 จังหวัด มีการสต็อตน้ำยาตรวจไว้ 5 แสนชุด นอกจากนี้ กรมได้ประกาศราคากลางในการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด 19 อยู่ที่ 1,600 บาทต่อตัวอย่าง จากเดิมที่ราคาอาจจะอยู่ที่ 2,500-3,000 บาทต่อตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจเชื้อมากขึ้น
0วิจัย”กระชาย”ยับยั้งไวรัส
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาการอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากที่กรมดำเนินการศึกษาวิจัยฟ้าทะลายโจรที่มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสโคโรนาและขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในคนแล้วนั้น กรมจะร่วมมือกับโรงพยาบาลรามาธิบดีในการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป เนื่องจากผลในหลอดทดลองพบว่ามีการยับยั้งไวรัสได้ในระดับที่น่าสนใจ