ราชทัณฑ์คาด ม.ค. 68 ใช้ระเบียบขังนอกคุก เปิดช่อง 'ยิ่งลักษณ์' ใช้เกณฑ์นี้ได้

ราชทัณฑ์คาด ม.ค. 68 ใช้ระเบียบขังนอกคุก เปิดช่อง 'ยิ่งลักษณ์' ใช้เกณฑ์นี้ได้

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คาด ม.ค. 68 ไฟเขียวบังคับใช้ระเบียบ 'ขังนอกเรือนจำ' ผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ม.112 นำมาพิจารณาหมด ส่วนคดี 'ยิ่งลักษณ์' โดน ม.157 ไม่อยู่ในข้อยกเว้น แต่ถ้าได้ลดโทษเหลือต่ำกว่า 4 ปี เข้าเกณฑ์ได้

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เดินทางเข้ามอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ต้องขังและญาติ เนื่องในโอกาส เทศกาลปีใหม่ 2568 โดยมี นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ น.ส.วลัยลักษณ์ ชุ่มชื่น ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง นางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผบ.เรือนจำจังหวัดนนทบุรี และในฐานะรองโฆษกกรมราชทัณฑ์ นายสมบูรณ์ ศิลา ผบ.เรือนจำกลางคลองเปรม นายมานพ ชมชื่น ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายยุทธนา นาคเรืองศรี ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผบ.เรือนจำพิเศษมีนบุรี ร่วมให้การต้อนรับ

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกระบวนการ การรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 พ.ศ. …. สำหรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ที่ครบกำหนดรับฟังความเห็นไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.67 ว่าตอนนี้ราช ทัณฑ์กำลังประมวลความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมดที่ได้มีการเสนอเข้ามา และจะดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข เสนอแนะ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราปรับปรุงแก้ไขแล้วก็จะได้มีการพูดคุยกันภายในกรมราชทัณฑ์ เพื่อสามารถประกาศใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ได้ เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องไปดำเนินการผ่านกระบวนการใดอีก ทั้งนี้ ทราบว่ามีผู้เข้ามาเสนอความคิดเห็นหลายร้อยราย

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า ในการทบทวนปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าวจากการรับฟังความเห็นนั้น ราชทัณฑ์ต้องรับฟังทั้งในแง่ของนักวิชาการ และดูหลักสากลประกอบกัน เพื่อได้มาถกกันในส่วนของคณะทำงานของราชทัณฑ์ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อนมีการประกาศใช้ ซึ่งเมื่อนั้นถ้าตนลงนามแล้วก็สามารถประกาศใช้ได้

นายสหการณ์ กล่าวถึงกรอบเวลาที่จะมีการบังคับใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ว่า คาดว่าอาจจะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.68 ส่วนจะมีกลุ่มผู้ต้องขังประเภทใดเข้าเกณฑ์บ้างนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ เพราะที่กำหนดไว้มีทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ

  1. กลุ่มที่ได้รับการจำแนก
  2. กลุ่มที่ต้องได้รับการพิจารณาพฤตินิสัย
  3. กลุ่มเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
  4. กลุ่มผู้ต้องขังเจ็บป่วย

ดังนั้น หากสำรวจแล้วเสร็จจึงจะมีการพิจารณาถึงสถานที่ที่จะใช้ในการคุมขังและระบบการดูแล แต่คงยังประกาศไม่ได้ว่าจะเป็นกลุ่มใดก่อน แต่เป็นไปได้ก็อยากทำทุกกลุ่มพร้อมกัน เมื่อหลักเกณฑ์ประกาศใช้ ราชทัณฑ์จะมอบหมายให้แต่ละเรือนจำทั่วประเทศรับไปดำเนินการ และให้พิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดมีคุณสมบัติ และสถานที่สำหรับคุมขังอื่นต้องรองรับด้วย เช่น ถ้าเป็นสถานที่สำหรับติดกล้องวงจรปิด ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้เรียบร้อยทุกด้าน

“หากสถานที่คุมขังอื่นดังกล่าว เป็นบ้านพัก ก็ต้องมีการติดกล้องวงจรปิด ส่วนการติดกำไล EM หรือไม่นั้น จะเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งนี้ ไม่ต้องเสนอต่อศาลว่าจะมีการติดกำไล EM บุคคลใด เพราะเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ตนอยากให้เข้าใจว่า หากเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด จะเป็นอำนาจการบริหารของกรมราชทัณฑ์ และยืนยันว่าผู้ต้องขังที่ไปคุมขังยังสถานที่อื่นก็ยังต้องโทษอยู่ แค่เปลี่ยนจากเรือนจำเป็นสถานที่คุมขังอื่นเท่านั้น ระบบการควบคุมดูแลปฏิบัติจะเสมือนอยู่ในเรือนจำ อาทิ การติดกล้องวงจรปิด มีการสื่อสารระหว่างเจ้าของสถานที่กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ และต้องมีการลงไปตรวจสอบพื้นที่เป็นระยะ ๆ รวมทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่คุมขังอื่น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการหรือเอกชน ก็ต้องดูแลไม่ปล่อยให้ผู้ต้องขังหลบหนี หรือก่อเหตุ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าของสถานที่ก็จะต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ” นายสหการณ์ กล่าว

นายสหการณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนรายคดีประเภทความมั่นคง และความผิดต่อร่างกาย จิตใจ และเพศ จะเข้าเกณฑ์ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ หรือไม่นั้น ตนขอเรียนว่าในส่วนของผู้ต้องขังในคดี พ.ร.บ.มาตร การป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC จะไม่เข้าเงื่อนไขแน่นอน รวมทั้งคดีการก่อการร้าย คดีการจำหน่ายยาเสพติดในปริมาณมาก หรือผู้ค้ารายใหญ่ ทั้งนี้ คำว่าคดีความมั่นคงนั้นค่อนข้างกว้าง ส่วนผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนมากในเรือนจำ จะได้รับการพิจารณาเข้าเกณฑ์หรือไม่ เราก็จะต้องนำมาพิจารณาทั้งหมด เพราะในการพิจารณาจะมีกรรมการตั้งแต่ชั้นเรือนจำ จนมาถึงกรรมการชั้นกรมราชทัณฑ์ ที่มีรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน และก็ต้องมีการเสนออธิบดีกรมราชทัณฑ์ พิจารณาอีกครั้ง

เมื่อถามถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกดำเนินคดี ม.157 จะเป็นประเภทคดีที่ถูกละเว้นไม่เข้าเงื่อนไขระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ นายสหการณ์ กล่าวว่า สำหรับคดีดังกล่าวยังไม่อยู่ในข้อยกเว้น แต่ประเด็นดังกล่าวจะถูกนำมาพิจารณาทั้งในชั้นกรรมการเรือนจำ และกรรมการระดับกรมราชทัณฑ์

ซักอีกว่าหากดูข้อมูลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เหลืออัตราโทษจำคุก 5 ปี หากมีการยื่นขอพระราช ทานอภัยโทษเฉพาะราย แล้วอาจเหลือโทษน้อยลง หรือได้รับการลดโทษ จะเข้าเงื่อนไขโทษต่ำ 4 ปี สำหรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำหรือไม่ นายสหการณ์ กล่าวว่า เงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้คือมีอัตราโทษไม่เกิน 4 ปี หรือมีคำพิพากษาจากศาลไม่เกิน 4 ปี ก็จะเข้าเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้มีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายเข้ามาที่กรมราชทัณฑ์ เนื่องด้วยเจ้าตัวยังไม่ได้เข้ามาอยู่ที่เรือนจำ แต่หากเข้ามาที่เรือนจำเมื่อใดจึงจะยื่นขออภัยโทษได้