เขี่ย ‘กิตติรัตน์’ ตกสวรรค์ เซฟเก้าอี้ 'นายกฯอิ๊งค์'
“เนื่องจาก หลังมีปัญหาเรื่องอดีตนายกฯเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง จากการลงนามแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทำให้มีข้อกังวลว่า หากนายกฯ หรือ ครม.ลงนามให้ความเห็นชอบบุคคลที่ขาดคุณสมบัติอีก ก็จะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติของนายกฯได้เช่นกัน”
บิ๊กเซอร์ไพรส์ เมื่อชื่อ “เดอะโต้ง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง ตกสวรรค์ จากที่มีชื่อนอนมาในตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หรือคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หลังผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา จนจ่อส่งชื่อต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบ
ย้อนไปดูการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ แทน “ปรเมธี วิมลศิริ” ที่เริ่มกระบวนการตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งอยู่ในยุครัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แม้ชื่อของ “กิตติรัตน์” จะมีกระแสไม่เห็นด้วยอย่างหนัก แต่ “บิ๊กรัฐบาล”ในขณะนั้นมั่นใจว่าจะฝ่าแรงต้านไปได้
เมื่อไฟเขียวให้เดินหน้า “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง ได้นำรายชื่อกรรมการสรรหา ซึ่งตั้งไว้ในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีการตรวจสอบคุณสมบัติทุกรายจนมั่นใจว่า สามารถทำหน้าที่ในการสรรหาได้ จึงลงนามแต่งตั้งกรรมการสรรหาชุดดังกล่าว
โดยมี สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการสรรหา และมี “อัชพร จารุจินดา” อดีตเลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเติบโตมาในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ร่วมทีม
ในการพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการสรรหา ได้พิจารณาข้อกฎหมายว่า “กิตติรัตน์” มีคุณสมบัติขัดกับกฎหมายของแบงก์ชาติหรือไม่ ในที่สุดได้มีการยืนยันว่าไม่มีกรณีขัดกฎหมายแต่อย่างใด
ทำให้ชื่อของ “กิตติรัตน์” ผ่านฉลุยทุกขั้นตอน หลังจากนั้นได้ส่งต่อให้ “พิชัย” ในฐานะรมว.คลัง เพื่อนำรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของครม.
ทว่า สมการการเมืองเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อ “เศรษฐา” ตกเก้าอี้นายกฯ ส่งไม้ต่อให้ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร “กิตติรัตน์” จึงต้องลุ้นอีกระลอก
ต้องยอมรับว่า “กิตติรัตน์” คือสายตรง “ยิ่งลักษณ์” และได้รับแรงสนับสนุนจาก“เศรษฐา” แต่เมื่อเข้าสู่โหมดเปลี่ยนนายกฯ เก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ “กิตติรัตน์” เคยนอนมา กลับไม่แน่นอน
การข่าวเล็ดลอดจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ “กิตติรัตน์” ก่อนจะเสนอชื่อเข้าสู่ความเห็นชอบของครม. โดยทีมกฎหมายของ“นายกฯ อิ๊งค์” ได้สอบถามกลับไปยังกระทรวงการคลัง ว่ามีประเด็นกฎหมายในเรื่องใด ที่อาจมีปัญหาหรือไม่
“เนื่องจาก หลังมีปัญหาเรื่องอดีตนายกฯเศรษฐา พ้นจากตำแหน่ง จากการลงนามแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ทำให้มีข้อกังวลว่า หากนายกฯ หรือ ครม.ลงนามให้ความเห็นชอบบุคคลที่ขาดคุณสมบัติอีก ก็จะมีปัญหาในเรื่องคุณสมบัติของนายกฯได้เช่นกัน” แหล่งข่าวจากทำเนียบฯ ระบุ
จากนั้นกระทรวงการคลังจึงมอบหมายให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสศค. ส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งในประเด็นที่อาจมีปัญหาทางข้อกฎหมาย โดยส่งเรื่องไปตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การตรวจสอบคุณสมบัติของ “กิตติรัตน์” รอบใหม่
โดยคำวินิจฉัยของ “กฤษฎีกา” คณะ 1 คณะ 2 และคณะ 13 ช่วงหนึ่งระบุว่า กรณีตามข้อหารือนี้ จึงสามารถพิจารณาฐานะการดำรงตำแหน่งประประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ตามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 234/2566
เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกฯ ลงวันที่ 14 ก.ย. พ.ศ. 2566 และประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยตามคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 316/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ลงวันที่ 6 พ.ย.2566
“ที่มาของการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่ง มีเหตุผลหรือความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือไม่ ปรากฎข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทยว่า นาย ก. เคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติหน้าที่เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมือง พ.”
“ภายหลังจากที่ลาออกจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว นาย ก. ยังคงปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง พ. และต่อมา นาย ก. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 โดยยังคงมีการปฏิบัติภารกิจและลงพื้นที่โดยสวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง พ. อยู่”
ขณะเดียวกัน “อัชพร จารุจินดา” หนึ่งในกรรมการสรรหา ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะ 2 ด้วย ขอสงวนความเห็นในฐานะเสียงข้างน้อยด้วย
ว่ากันว่า หาก “นายกฯ อิ๊งค์” ไม่ออกแรงเบรกชื่อ “กิตติรัตน์” ส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง “กิตติรัตน์” อาจได้นั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติอย่างที่คาดหวัง
ที่สำคัญ “กิตติรัตน์”ไม่ใช่สายตรงนายใหญ่บ้านจันทร์ส่องหล้า ไม่ใช่สายตรงนายหญิงตึกไทยคู่ฟ้า จึงไม่แปลกที่มีปฏิบัติการหักคนของ “นายกฯพลัดถิ่น” เพื่อเซฟเก้าอี้นายกฯของ “แพทองธาร”