ทวารเทียม อุปกรณ์ที่จำเป็นผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำเป็นต้องมีทวารเทียมเพื่อใช้ขับถ่ายอุจจาระทางรูเปิดของลำไส้ที่ผนังหน้าท้องแทนทวารหนักตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นต้องใช้ “อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม” (Colostomy Bags) บางรายจำเป็นต้องใช้ไปตลอดชีวิต
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาอุปกรณ์ดังกล่าวต้องนำเข้าและมีราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย แป้นติดผิวหนังและถุงรองรับสิ่งขับถ่ายซึ่งตอนใช้งานจะต้องประกอบติดกันถุงรองรับสิ่งขับถ่าย สามารถถอดล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ปัญหาที่สำคัญของการใช้อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม คือ ความขาดแคลน
ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงบริการของชุดอุปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัดและมีราคาสูงราว 200 – 500 บาทต่อชุด ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และต้องใช้ราว 5 – 10 ชุดต่อเดือน รวมถึงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้อุปกรณ์ เช่น ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง การหลุดลอกของชุดอุปกรณ์ก่อนเวลาอันควร ทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการพัฒนา “อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม” โดยใช้ “ยางพารา” ซึ่งสามารถผลิตเองได้ในประเทศ ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาชุดอุปกรณ์ให้มีรูปแบบที่เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องของคนไทย พร้อมดำเนินการทดสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ Biocompatibility Test เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย ให้เข้าใจถึงการใช้งานชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม โดยพยาบาลเฉพาะทาง โดยใช้เวลาวิจัยรวมกว่า 5 ปี
ผศ. นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้วิจัย อธิบายว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้มีการจดอนุสิทธิบัตร ออกแบบให้เหมาะสำหรับสรีระคนไทย ประกอบด้วย แป้นติดผิวหนังและถุงรองรับสิ่งขับถ่ายที่มีน้ำหนักเบา ยึดติดผิวหนังได้ดี สามารปรับรูปร่างตามหน้าท้องได้ อีกทั้งยังสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 0.5 กิโลกรัม เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษและผลิตด้วยกระบวนการเป่าฟิล์มแบบหลายชั้น (Multilayers Film) ไม่เกิดการรั่วซึม ทำให้ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์เล็ดลอดออกมาได้ ลดปัญหาความขาดแคลนและการนำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ทางทีมวิจัย ยังได้ทำงานร่วมกับเอกชน 5 ราย ได้แก่ บริษัทโนวาเทค เฮลธ์แคร์ จำกัด , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC , บริษัท เอส. เค. โพลีเมอร์ จำกัด , กลุ่มบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด ( มหาชน ) และ บริษัท นีโอพลาสท์โตเมอร์ จำกัด รวมถึง สถาบันพลาสติก และการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
“ยางพารา ทางภาคใต้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ การนำมาแปรรูปเป็นสินค้าทางการแพทย์ ทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 300 บาท เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม ช่วยลดภาระของภาครัฐ เพิ่มการเข้าถึงเนื่องจากราคาลดลงอยู่ที่ราว 190 บาท นอกจากนี้ ยังทำมาตรฐานฮาลาล สำหรับคนมุสลิมอีกด้วย
“เนื่องจาก ยางพารา ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากพืช สามารถย่อยสลายด้วยตัวเอง ในระยะเวลาราว 5 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาในส่วนที่เป็นพลาสติก ร่วมกับ สถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสหากรรม ให้เป็นไบโอพลาสติกในอนาคต หากมีการใช้แค่ 5% ของยอดขายเดิม จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ราว 40 ล้านบาท จากการนำเข้า 2,000 ล้านบาทต่อปี” ผศ. นพ.วรวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ นวัตกรรม “อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม” ได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอดนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ เนื่องในวันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA กล่าวว่า จัดงานวันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ในครั้งนี้ เพื่อประกาศเกียรติคุณและ เชิดชูเกียรติแก่คนไทยที่สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความโดดเด่นในหลากหลายด้าน สร้างให้เกิดคุณค่าที่ชัดเจนทั้งระดับ องค์กร ระดับประเทศและระดับโลก ตอกย้ำการแสดงศักยภาพนวัตกรรมไทยสู้วิกฤต เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดี
นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนการจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมในหลากหลายด้านร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษา รวมถึงภาคสังคม ได้แก่ กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสร้างให้เกิดความตื่นตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในหลากหลายด้านขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย เพื่อคนไทย และคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นวัตกรรมเพื่อรับมือวิกฤต ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤตและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อันเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยป้องกันการเกิดปัญหา หรือแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นโดยเร็วที่สุด ลดผลกระทบและความเสียหายในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุด
สำหรับการ วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 นี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มอบรางวัลทั้งสิ้น 8 กลุ่มรางวัล ได้แก่
1) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ
- ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ รางวัลเกียรติคุณ ได้แก่
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) - ประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : เครื่องทำน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ PAC Frenergy
โดย บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด - ประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : คอนกรีตแอโนด โดย บริษัท ไทยมารีนโพรเทคชั่น จำกัด
2) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
- ประเภทหน่วยงานภาครัฐ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : อุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม โดย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - ประเภทหน่วยงานภาคเอกชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : โครงการจระเข้ : ระบบทำความเย็นคาร์บอนไดออกไซด์
แบบเหนือจุดวิกฤติในประเทศเขตร้อนชื้น โดย บริษัท ไอ.ที.ซี. (1993) จำกัด - ประเภทองค์กรเพื่อสังคมและชุมชน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : การเรียนออนไลน์แบบผสมผสาน โดย บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด
3) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ
- ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : นวัตปะการัง
โดย ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในโครงการอนุรักษ์แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา - ประเภทการออกแบบบริการ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : ดม (DOM) ระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังกลิ่นแบบครบวงจร
โดย ศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี บริษัท เอสซีจีแพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน)
4) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสื่อและการสื่อสาร
- ประเภทผลงานนวัตกรรมสื่อและการสื่อสาร รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
นิวนอร์มอลสื่อสารรูปแบบอีเวนต์บนโลกเสมือนจริง โดย บริษัท เดอะ ไวท์ เลเบิลส์ จำกัด - ประเภทผู้สื่อสารนวัตกรรม รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
5) รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น
- ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ รางวัลดีเด่น ได้แก่
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) - ประเภทองค์กรขนาดกลาง รางวัลดีเด่น ได้แก่
บริษัท ไทยเทคโนกลาส กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) - ประเภทองค์กรขนาดเล็ก ไม่มีรางวัลดีเด่น ให้ลงชื่อบริษัทที่ได้รางวัลเกียรติคุณ หรือไม่
6) รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : เนื้อเทียมวีแกนเสริมโปรตีนข้าวไฮโดรไลเสท - ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่
ผลงาน : Low - Cost Ventilator สำหรับผู้ป่วยในที่ห่างไกล โดยโรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา
7) รางวัล NIA Creative Contest 2020
- รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่
ผลงาน : THE SIAM : ปฏิบัติการ กวาดล้างศัตรูพืช โดยทีม คุณเขียว โปรดักส์ชั่น
8) รางวัลนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงาน : รู้จริงเศรษฐกิจไทย โดย บริษัท เมโมกราฟฟิค จำกัด