ฉีก ‘พ.ร.บ.คำสั่งเรียก’ 'ฝ่ายค้าน' ไร้ดาบฟันรัฐบาล
นับเป็นอีกผลงานของซามูไรกฎหมาย 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ที่แสดงความแหลมคม จนทำให้ 'กฎหมายคำสั่งเรียก' ซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายค้านต้องสิ้นฤทธิ์ไป แต่อีกด้านก็ทำให้สะเทือนถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในภาพรวมเช่นกัน
กลายเป็นข่าวเล็กๆ แต่มีผลกระทบต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ปฐมเหตุของการกำหนดให้มีพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อต้องการเพิ่มเขี้ยวเล็บในการทำงานให้กับคณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จากเดิมที่การทำงานของสองสภานี้เจอปัญหาของค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายบริหารเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เป็นข้อพิพาทต่อคณะกรรมาธิการ
แม้จะเป็นคณะกรรมาธิการอันเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็มีสภาพไม่ต่างจากเสือกระดาษ เพราะไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมาย การจะให้หรือไม่ไม่ให้ความร่วมมือไม่ได้มีผลทางกฎหมายตามมา ทำให้หลายครั้งคณะกรรมาธิการต้องทำงานโดยรับฟังข้อมูลแต่เพียงด้านเดียวหรือรับข้อมูลจากอีกฝ่ายที่เป็นเพียงเอกสาร โดยไม่ได้สอบถามจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของการยกร่างพระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาเกือบ 10 ปี พระราชบัญญัติฉบับนี้มีภาพลักษณ์ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี มีหลายคณะกรรมาธิการได้ใช้ประโยชน์จากกฎหมายในทางที่ถูกต้องและมีผลงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อกดดันฝ่ายบริหาร เช่น การพยายามทั้งขู่และปลอบให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการ ต้องมาพบคณะกรรมาธิการ คำขู่หลายครั้งก็ใช้ได้ผลเพราะกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดทางอาญาทั้งจำคุกและปรับ รวมไปถึงการส่งให้ต้นสังกัดลงโทษทางวินัยสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ
ไม่เพียงเท่านี้ ในมุมของส่วนราชการที่มีหน้าที่ต้องมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการได้เคยสะท้อนปัญหาต่อหน้าคณะกรรมาธิการว่าถูกคำสั่งเรียกให้มาชี้แจงจากคณะกรรมาธิการหลายคณะ ทั้งๆที่เป็นเรื่องเดียวกัน หลายครั้งต้องเสียเวลาไปเป็นวันๆในการวิ่งเข้าวิ่งออกห้องประชุมคณะกรรมาธิการเพื่อชี้แจงในเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับภาคราชการเท่านั้นแต่ยังลามไปถึงภาคเอกชนด้วย ที่ต้องมีภาระเกินจำเป็นที่ต้องมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ จนหลายครั้งก็ต้องส่งเสียงบ่นมายังคณะกรรมาธิการไม่ต่างกัน
มาเวลานี้พระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องสิ้นผลไปโดยปริยายด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฝีมือของการใช้เหลี่ยมทางกฎหมายของ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ออกโดยอาศัยรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ที่ให้อำนาจคณะกรรมาธิการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกได้ แต่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ไม่ได้กำหนดไว้
ประกอบกับ เป็นจังหวะเดียวกับที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤตมิชอบ กำลังไล่ล่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จากกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญกำหนด
จากกรณีปัญหาของพล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้ไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ จนมีคำวินิจฉัยออกมาในที่สุด ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงแค่ในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
ถึงรัฐธรรมนูญจะให้อำนาจคณะกรรมาธิการในการเชิญบุคคลมาชี้แจงและเรียกเอกสาร แต่ก็ไม่มีผลบังคับสำหรับผู้ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ เพราะไม่มีกฎหมายลำดับรองกำหนดบทลงโทษ กว่าจะมีกฎหมายลำดับรองฉบับใหม่บังคับใช้ต้องผ่านการพิจารณาถึงสองสภา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกร่วมปีเลยทีเดียว
คณะกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาลอาจไม่ได้เดือดร้อนมากนักกับผลที่เกิดขึ้น แต่สำหรับฝ่ายค้านนั้นถือว่าเจอกับปัญหาพอสมควร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐสภาควรหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลเสียไป