“เกษตร”รื้อเกณฑ์โปรเจคเงินกู้ จูงใจร่วม“1ตำบล1ทฤษฎีใหม่”
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างดังนั้นแผนการช่วยเหลือจะต้องมีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ เพราะหากเงื่อนไขไม่โดนใจอาจทำให้ผู้ร่วมโครงการมีน้อยกว่าเป้าหมาย
ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันนี้ (9 ต.ค.)จะนำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,805 ล้านบาทเข้าหารือคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อปรับปรุงเกณฑ์ และคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ หลังเปิดรับสมัคร 2 ครั้งมีเกษตรกรเข้าร่วม 33,500 ราย จากเป้าหมาย 64,144 ราย
สำหรับผลการรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯรอบที่ 1 เกษตรกร 20,357 คน ผู้จ้างงาน 25,137 คน และรอบที่ 2 เกษตรกร 13,143 คน ผู้จ้างงาน 6,477 คน ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงเตรียมนำรายละเอียดโครงการฯเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ปรับเกณฑ์การรับสมัครและคุณสมบัติของเกษตรกร
“เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯมีมติออกมาเป็นแนวทางไหน จากนั้นจะนำรายละเอียดและหลักเกณต์การปรับปรุงใหม่ เสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการฯครั้งที่ 3 ที่กำลังจะดำเนินการต่อไปจากนี้”
สำหรับกำหนดการเปิดรับสมัครร่วมโครงการครั้งที่ 3จะมีขึ้นภายในเดือนต.ค.นี้ โดยจะต้องเริ่มจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้เงินกระจายสู่ชุมชนผ่านโครงการฯให้เร็วที่สุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19
เบื้องต้น คาดว่าหลักเกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง มี 3-4 ข้อ อาทิ เงื่อนไขการเข้าร่วมที่เดิมรัฐบาลจะขอพื้นที่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเข้าร่วมโครงการฯต้องทำตามเงื่อนไขเป็น“ศูนย์ขยายผล”ซึ่งจากเดิมกำหนดไว้ 7 ปี แต่เกษตรกรจำนวนมาก เห็นว่า 7 ปีนานไป อยากให้ปรับเกณฑ์การทำหน้าที่เป็นศูนย์ขยายผลให้เหลือ 5 ปี เป็นต้น
“ผมเพิ่งเข้าประชุมเป็นนัดแรกหลังรับตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ และได้กำชับในหลายเรื่อง อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง ที่ควรจะให้มีการจัดซื้อจัดจ้างแบบกระจาย ให้ผู้รับจ้างหลากหลาย ผู้รับจ้างรายย่อย อย่ามัดรวมโครงการจัดจ้างรายใหญ่เพียงรายเดียว เพื่อให้เงินกระจายสู่ชุมชนมากที่สุดตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล”
นอกจากนี้ เพื่อให้มีการกระจายเงินเข้าสู่ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการจ้างงาน ดังนั้นทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการกระจายเงินเข้าสู่ระบบ มีการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อรองรับคนที่ตกงานจากโควิด-19 โดยรัฐบาลตั้งเป้าการจ้างงานไว้ที่ 3.2 หมื่นราย โครงการนี้เป็นโครงการบูรณาการต้องร่วมกันทำงาน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ฐานราก
ทองเปลว กล่าวต่อว่า โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกจากจะช่วยฟื้นฟู เศรษฐกิจในระยะสั้น ยังบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ส่วนรายละเอียดการรับสมัครในรอบที่ 3 จะดำเนินการเปิดรับสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 ต.ค. 2563 สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ http://ntag.moac.go.th ยื่นใบสมัครด้วยตนเองได้ที่เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในการรับสมัครเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการครั้งที่ 3 จะนำรายชื่อเดิมที่สมัครไว้ในรอบที่ 1 และ2 ที่มีจำนวน 33,500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้คิดว่าจะผ่านเกณฑ์การพิจารณาเพียงประมาณ 23,000 ราย หรือ ไม่ผ่านเกณฑ์ประมาณ 30%หากปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้ว เชื่อว่ากลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ประมาณ 10,000 รายจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ทั้งหมด