"มท.1" สั่งทุกจังหวัด เตรียมพร้อมช่วย "ประชาชน" คาด "พายุหลิ่นฟา" สร้างผลกระทบ

"มท.1" สั่งทุกจังหวัด เตรียมพร้อมช่วย "ประชาชน" คาด "พายุหลิ่นฟา" สร้างผลกระทบ

"พล.อ.อนุพงษ์" ฐานะ บก.ปภ.ช.สั่งการทุกจังหวัดเตรียมรับมือพายุโซนร้อนหลิ่นฟา ตั้งทีมเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชน 24 ชั่วโมง

        พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา หลังพายุหลิ่นฟา ซึ่งเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม จะสร้างผลกระทบกับประเทศไทยด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงในช่วงวันที่ 11-12 ตุลาคม นี้ และจะทำให้ภาคกลางตอนล่าง, ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตนได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายปกครองในพื้นที่เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนตามแนวทางการเผชิญเหตุ

    

           พล.อ.อนุพงษ์  กล่าวด้วยว่าการทำงานต้องความสำคัญในการดำเนินการตามแนวทาง 5 ด้าน ได้แก่ ติดตามและประเมินสถานการณ์รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกมิติ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยที่จัดเตรียมไว้โดยทันที,  แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย และช่องทางการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ พร้อมกำชับให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา ให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรองรับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ

            "กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ เตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำ เรือยนต์กู้ภัย เรือท้องแบน รถสูบส่งน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย ฯลฯ ให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยซ้ำ  ส่วนจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเล ให้ฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับสถานประกอบการ โรงแรมในพื้นที่ชายทะเล เร่งสื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง และห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรง พร้อมประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานของกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และตำรวจน้ำในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด ในการนำเรือเข้าที่กำบัง และห้ามการเดินเรือช่วงมีคลื่นลมแรงโดยเคร่งครัด" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

    

               พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเร่งดำเนินการเตรียมการรับมือตามแผนเผชิญเหตุ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยพี่น้องประชาชนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง.