ผุดแนวคิด'กักตัว'รูปแบบใหม่ ขยายสู่เส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัด
สธ.ผุดแนวคิดขยายพื้นที่กักตัวรูปแบบใหม่ ‘Aจ.Q’ รับนักท่องเที่ยว กำหนดเส้นทางเฉพาะในจังหวัดไปได้ช่วงวันที่ 0-14 เน้นประเทศเสี่ยงต่ำ ย้ำจังหวัดต้องมีความพร้อมระบบสาธารณสุข-ชาวบ้านเข้าใจ นำร่อง1-2 จ.ก่อน แย้ม‘ชลบุรี’สนใจ ขณะที่ ‘ASQ’เตรียมกว่า13,000ห้อง
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนยนา2019 หรือโรคโควิด 19 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ขณะนื้อยู่ระหว่างการหารือแนวทางในการขยายระบบกักตัวรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะสั้นในจังหวัดที่มีความพร้อมดำเนินการ โดยการกำหนดเป็นโปรแกรมทัวร์เฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวที่จะสามารถไปได้ในช่วง 0-14 วัน แทนที่จะกักตัวอยู่เฉพาะในห้องพักของโรงแรมเท่านั้น ขยายเป็นสามารถไปในแหล่งท่องเที่ยวตามที่จังหวัดนั้นๆกำหนดได้ ภายใต้เงื่อนไขและรายละเอียดที่จะมีการหารือร่วมกันของหน่วยราชการ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ต้องรับรู้และให้ความเห็นชอบด้วย ซึ่งยังไม่มีการกำหนดชื่อเรียกการกักตัวแบบนี้อย่างเป็นทางการ แต่มีการเรียกในเบื้องต้น ระบบการกักกันและท่องเที่ยวระดับพื้นที่ หรือ Alternative ตามด้วยชื่อจังหวัดนั้น Quarantine (Aจ.Q) อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดต้องบยึดหลักความปลอดภัยควบคู่กับการให้เศรษฐกิจไปต่อได้ด้วย
รูปแบบการขยายพื้นที่กักตัวแบบนี้จะมีขั้นตอนการดำเนินการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ประเทศต้นทาง โดยนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาจะต้องยอมรับในเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ และห้ามออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยว ที่สำคัญ ต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีการติดเชื้อนาน 3 เดือน โดยอาจพิจารณาในเชิงพื้นที่ด้วย เช่น จีน บางมณฑลมีจำนวนประชากรกว่า 100 ล้านคน แต่ไม่มีการติดเชื้อมานานกว่า 180 วัน เป็นต้น มีระบบการจัดการโควิด 19 ดี และทำ MOU ตกลงร่วมกัน ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด 19 เป็นลบใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ทำการกักตัวเองที่บ้านหรือ Home Quarantine 14 วันก่อนเดินทาง และดำเนินการผ่านบริษัททัวร์
เมื่อมาถึงประเทศไทย มีการเตรียมความพร้อมของประเทศที่จะดำเนินการกักกันและท่องเที่ยวระดับพื้นที่ จังหวัดต้องทำเส้นทางที่จะเปิดให้ไปท่องเที่ยวอย่างจำกัด ไม่ปะปนกับประชาชน เช่น แต่ละวันจะไปพื้นที่ท่องเที่ยวตรงไหนของจังหวัด โดยทำเป็นแพคเกจให้กับทางบริษัททัวร์ นอกจากนี้ ต้องสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจและมั่นใจในการดำเนินการ รวมถึงต้องมีสายการบินตรง จัดทำแพคเกจท่องเที่ยว เน้นเศรษฐกิจในชุมชน มีบริการที่เป็นเอกลักษณ์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพปลอดโรคโควิด 19 เช่น กิจการนวด/สปา บริการ Magnet การจัดผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหารสุขภาพต้านไวรัส ขณะที่โรงแรมที่พักจะเป็นโรงแรมที่ผ่านมาตรฐาน SHA หรือ Well Hotelและ มีอุปกรณ์ติดตามนักท่องเที่ยว
นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า จังหวัดที่จะเข้าร่วมรูปแบบขยายการกักตัวได้นั้น ต้องเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมและศักยภาพระบบโครงสร้างด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลที่พร้อมดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ห้องแยกโรคความดันลบรองรับกรณีมีนักท่องเที่ยวติดเชื่อ มีระบบห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรคที่เข้มแข็ง มี อสม.ในพื้นที่ เป็นต้น และต้องมีความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่ ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่สนใจ เช่น ชลบุรี บุรีรัมย์ ระยอง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ซึ่งระยะแรกอาจจะดำเนินการใน1-2จังหวัดก่อนเพพื่อเป็นต้นแบบ โดยจ.ชลบุรีน่าจะมีความพร้อมที่สุด เพราะผู้ว่าฯ ผู้ประกอบการมีความสนใจ ที่สำคัญมีประสบการณ์ในการเป็นสถานที่กักกันแห่งรัฐ(State Quarantine:SQ)มาแล้ว มีความเข้าใจในระบบดำเนินการอย่างดี เร็วๆนี้ทีมสบส.จะลงพื้นที่ไปร่วมวางแผนและทำความเข้าใจ
“การกักตัวที่ขยายนพื้นที่ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสามารถขยายพื้นที่จำกัดให้ใหญ่ขึ้น แต่ยังยึดหลักความปลอดภัย จากเดิมที่จะต้องกักตัวอยู้แต่ในห้องทั้ง 14 วัน ก็มีการออกแบบและกำหนดรายละเอียดใหม่ให้ไปท่องเที่ยวได้ในเส้นทางที่จังหวัดกำหนดในช่วงวันที่ 0-14 และนักท่องเที่ยวแต่ละกรุ๊ปจะต้องมาจากพื้นที่ต้นทางเดียวกัน ซึ่งต้องออกแบบรายละเอียด ภายใต้การดำเนินการที่ประชาชนมั่นใจ”นพ.ธเรศกล่าว
สำหรับการดำเนินการทยอยเปิดประเทศรับชาวต่างชาติที่ผ่านมานั้น ทั้งหมดต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งมีสถานที่กักตัวหลายรูปแบบ โดยในส่วนของSQ มีจำนวน 55 แห่ง สถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine:ASQ) และ สถานกักกันทางเลือกในพื้นที่ (Alternative Local State Quarantine:ALSQ) มีจำนวน 84 แห่ง มีห้องรองรับจำนวน 13,009 ห้อง แบ่งเป็น ASQ จำนวน 11,681 ห้อง และ ALSQ จำนวน 1,328 ห้อง ส่วนการเปิดให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติโรคอื่นและผู้ติดตามเข้ามารักษาในประเทศไทย มีโรงพยาบาลกักกันทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine:AHQ) รองรับ แบ่งเป็น โรงพยาบาล 118 แห่ง และคลินิก 36 แห่ง มีห้องรองรับจำนวน 2,709 ห้อง โดยต้องกักตัวขณะรักษาไม่น้อยกว่า 14 วัน มีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวน 3 ครั้ง ขณะนี้เปิดรับผู้ป่วยและผู้ติดตามทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีผู้ป่วยเดินทางเข้ามารับการรักษาแล้ว 1,000 กว่าราย สร้างเศรษฐกิจได้กว่า 200 ล้านบาท โดยเมื่อกักตัวครบ 14 วันแล้ว วันที่ 15 สามารถออกไปท่องเที่ยวได้ โดยมีระบบรายงานและติดตามตัว และสถานกักกันในกิจการเพื่อสุขภาพ (Wellness Quarantine:WQ) จะดำเนินการในกิจการเมดิคัล สปา หรือรีสอร์ทสำหรับผู้สูงอายุ โดยอยู่ระหว่างการจัดทำประกาศและหลักเกณฑ์