‘วัคซีน-ยาแอนตี้บอดี้’ความหวังปราบโควิดของโลก
‘วัคซีน-ยาแอนตี้บอดี้’ความหวังปราบโควิดของโลก ขณะการตรวจพบล่าสุดของเอฟดีเอที่โรงงานผลิตยาบริษัทอีไล ลิลลี่อาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามเร่งผลิตยารักษาโรคโควิด-19
ขณะที่ทั่วโลกกำลังรอใช้วัคซีนต้านโควิด-19ที่หลายบริษัทในหลายประเทศเร่งพัฒนาและผลิตออกมา ล่าสุด มีบริษัทยาชั้นนำของโลกพร้อมใจยุติการทดลองวัคซีนขั้นสุดท้ายและยุติการทดลองยาแอนตี้บอดี้เพื่อรักษาโรคนี้ในเวลาใกล้ๆกัน ทำให้ความหวังของคนทั่วโลกที่ตั้งตารอคอยวัคซีนและยาต้านไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่สั่นคลอน
คณะเจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ)เผยแพร่เอกสารการตรวจสอบเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ที่พบปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพอย่างรุนแรงที่โรงงานผลิตยาของบริษัทอีไล ลิลลี่ แอนด์ โค (Eli Lilly) ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งมือผลิตยาหนึ่งในสองตัวที่นำมาใช้รักษาโรคโควิด-19 ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าทานยาตัวนี้แล้วหายป่วยจากโรคโควิด-19ในเวลาอันรวดเร็ว
ยาแอนตี้บอดี้ของบริษัทอีไล ลิลลี่ ซึ่งอยู่ในขั้นของการทดลองและยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะผู้ควบคุมกฏระเบียบว่ามีความปลอดภัยเพียงพอและมีประสิทธิภาพ มีลักษณะคล้ายกับยาตัวหนึ่งของบริษัท“รีเจนเนอรอน ฟาร์มาซูติคัลส์ ”ที่ทีมแพทย์ทำเนียบขาวใช้รักษาโรคโควิด-19แก่ประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 8ต.ค.ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้โพสต์คลิปวีดิโอลงในทวิตเตอร์ พร้อมระบุว่า การที่เขาติดเชื้อโควิด-19 เป็นของขวัญจากพระเจ้าและขณะนี้เขารู้สึกสบายดีมาก พร้อมทั้งให้เครดิตบริษัทยารีเจนเนอรอน และบริษัทยาอีไล ลิลลี่ที่ผลิตยาชนิดเดียวกันและช่วยรักษาเขาจนหาย
ผู้นำสหรัฐ ระบุว่า เขารู้สึกมีอาการดีขึ้นทันทีหลังได้รับยาของทั้งสองบริษัทนี้ จึงต้องการให้ชาวอเมริกันทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาทั้งหมดแบบเดียวกับที่เขาได้รับ พร้อมกับให้สัญญากับประชาชนว่า จะให้ประชาชนได้รักษาฟรีด้วยยาของรีเจนเนอรอน ตัวเดียวกับที่ใช้รักษาเขาจนหายจากโควิด
เท่านั้นยังไม่พอ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังประกาศจะทำให้ยานี้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและกว้างขวางกว่านี้ โดยสัญญาว่าจะเร่งอนุมัติยาดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วน สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด19 ที่มีอาการหนักและฉุกเฉิน ที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้รับยาอย่างรวดเร็วและฟรี
ไม่แปลกที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามผลักดันเรื่องนี้ ในช่วงที่เขากำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้นำประเทศสมัยที่2 ในวันที่ 3 พ.ย.เพราะอย่างน้อยหากผลักดันได้สำเร็จ ประเด็นที่ถูกชาวอเมริกันโจมตีว่าล้มเหลวในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 จนส่งผลให้ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 215,000 คนต้องตายก็ดูจะช่วยชดเชยกันได้
แต่สิ่งที่คณะเจ้าหน้าที่ของเอฟดีเอตรวจพบล่าสุดที่โรงงานผลิตยาของบริษัทอีไล ลิลลี่ในเมืองแบรนช์เบิร์ก รัฐนิว เจอร์ซีย์ เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเปิดให้มีการเข้าตรวจสอบมาก่อน อาจจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามเร่งผลิตยาเพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19
เมื่อวันอังคาร(13 ต.ค.)บริษัทอีไล ลิลลี่ ระงับการทดลองขั้น 3 ซึ่งเป็นการรักษาโรคโควิด-19 โดยใช้ยาแอนตีบอดีที่สร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการกับคนไข้โควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวโรงพยาบาล สืบเนื่องจากเกิดเหตุการณ์หนึ่งซึ่งไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดใดๆ
แต่ถือเป็นเรื่องปกติที่การทดลองทางคลินิกในขั้นสุดท้ายมักเจอปัญหา เนื่องจากการทดลองขั้น 3 ออกแบบมาสำหรับเพิ่มจำนวนอาสาสมัครผู้เข้าร่วมเป็นหลายพันหรือหลายหมื่นคน เพื่อกระตุ้นผลกระทบข้างเคียงต่างๆ
เมื่อเดือนที่แล้ว แอสตราเซนเนกา บริษัทสัญชาติอังกฤษ กลายเป็นผู้พัฒนาวิจัยรายแรกของโลกที่ประกาศระงับการทดลองทางคลินิกวัคซีนโควิด-19 หลังคนไข้รายหนึ่งในอังกฤษ มีอาการอักเสบที่ไขสันหลัง แต่หลังจากนั้นวัคซีนของแอสตราเซนเนกาก็กลับเข้าสู่การทดลองตามปกติในอังกฤษ บราซิล แอฟริกาใต้และอินเดีย แต่ในสหรัฐยังคงระงับการทดลอง โดยไ่ม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใด
"อีริค โทโปล" แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสคริปป์ส โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า "เขารู้สึกประหลาดใจที่ได้ยินเกี่ยวกับความกังวลด้านความปลอดภัยในวิธีการรักษาโดยใช้ยาแอนตี้บอดีของอีไล ลิลลี่ เพราะในการทดลองขั้นต้นๆ ไม่พบว่ายาตัวนี้ก่อผลกระทบข้างเคียงรุนแรงแต่อย่างใด จึงหวังว่าจะเป็นการหยุดพักช่วงสั้นๆ และหวังว่าจะได้รายละเอียดต่างๆเร็วๆนี้”
ขณะที่โฆษกของบริษท ระบุว่า “อีไล ลิลลี่สนับสนุนการตัดสินใจของคณะกรรมการเฝ้าระวังข้อมูลความปลอดภัยอิสระ(ดีเอสเอ็มบี) ที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อรับประกันความปลอดภัยของคนไข้ที่เข้าร่วมในการศึกษาครั้งนี้”
การศึกษาเริ่มต้นขึ้นในเดือนส.ค. ตามแหล่งทดลองต่างๆมากกว่า 50 แห่งในสหรัฐ, เดนมาร์ก และสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายเกณฑ์อาสาสมัครเข้าร่วมให้ได้ 10,000 คน ซึ่งแนวทางการรักษาโดยใช้ยาแอนตี้บอดีที่สร้างในห้องปฏิบัติการ กลายเป็นข่าวพาดหัวโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวชมยาของบริษัทรีเจนเนอรอนว่าทำให้เขามีอาการดีขึ้นจากการป่วยติดเชื้อโควิด-19
ขณะที่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ)ประกาศระงับการทดลองทางคลินิกกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทเช่นกัน เพื่อเปิดทางให้คณะควบคุมความปลอดภัยอิสระเข้าประเมินอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ของอาสาสมัครผู้เข้าร่วมทดลองรายหนึ่ง
ข่าวนี้ทำให้ราคาหุ้นของเจแอนด์เจร่วงลงมากกว่า 2% โดยเจแอนด์เจบอกว่า คณะกรรมการเฝ้าระวังข้อมูลและความปลอดภัยอิสระกำลังตรวจสอบอาการป่วยของอาสาสมัคร ซึ่งคณะกรรมการเฝ้าระวังข้อมูลและความปลอดภัยอิสระ ที่กำลังตรวจสอบทบทวนการทดลองของแอสตราเซนเนกาด้วยเช่นกัน ต้องยื่นผลการตรวจสอบอาสาสมัครต่อเอฟดีเอก่อนที่จะสามารถกลับมาเดินหน้าทดลองได้อีกครั้ง
“มาไท มัมเมน” หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจยาของเจแอนด์เจ กล่าวว่า บริษัทได้แจ้งคณะกรรมการความปลอดภัยเกี่ยวกับกรณีผู้เข้าร่วมทดลองล้มป่วยเมื่อวันอาทิตย์(11ต.ค.) และทางคณะกรรมการร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทกำลังรวบรวมขอมูลเพื่อตอบคำถามต่างๆของคณะกรรมการฯ