จากความคิด สู่ 14 บอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคม
บ้านปู ร่วมกับ มธ. บ่มเพาะเยาวชนชั้น ม.ปลาย ผ่านโครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2” จากความคิด สู่ 14 บอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคมจากนวัตกรรุ่นใหม่
ตลอด 1 ปีของการบ่มเพาะเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั้ง 14 ทีมใน โครงการ “ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2” ซึ่งจัดโดย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มีทักษะที่เอื้อต่อการเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์บอร์ดเกมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมในประเด็นต่างๆ จนถึงวันนี้ที่บอร์ดเกมของทั้ง 14 ทีมได้เปิดตัวครั้งแรกให้บุคคลทั่วไปทดลองเล่นภายในงาน “GAMES & LEARNING 2020” ภายใต้โครงการ ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2 ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงละครเคแบงค์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน เมื่อวันก่อน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ ร่วมด้วยแขกผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม เป็นโครงการที่บ้านปูฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมนวัตกรและขับเคลื่อนการเรียนรู้ผ่านกระบวนการฝึกฝน พัฒนา และผลิตเกมการเรียนรู้เพื่อร่วมกันหาวิธีเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปูฯ ที่ว่า พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา โดยจากความสำเร็จของโครงการรุ่นที่ 1 ที่ได้รับการตอบรับเข้าร่วมโครงการจากเหล่าเยาวชนเป็นอย่างดี สามารถสร้างสรรค์บอร์ดเกมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมออกมาได้ถึง 20 ประเด็น และบอร์ดเกมเหล่านั้นได้ถูกนำไปต่อยอดใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายจริง รวมถึงเป็นสื่อการเรียนการสอนในหลากหลายมิติ บ้านปูฯ จึงสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่ 2 ซึ่งในวันนี้ก็รู้สึกประทับใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นนวัตกรรุ่นใหม่ใส่ใจกับการแก้ไขปัญหาสังคม และสามารถถ่ายทอดออกมาผ่านบอร์ดเกมได้อย่างน่าสนใจถึง 14 เกม จาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาสังคม การดูแลสุขภาพ และวัยรุ่นศาสตร์ ซึ่งต่างก็มีความน่าสนใจในมุมที่แตกต่างกันออกไป โดยทุกเกมได้รับการบ่มเพาะ ขัดเกลาจากทีมงานคุณภาพที่ร่วมกันสนับสนุนและต่อยอดความคิดของน้องๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีความท้าทายจากช่วงแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การจัดกิจกรรมต้องเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างสร้างสรรค์”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นด้วยการบ่มเพาะ “คน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไป การที่เราได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ทำให้เราสามารถเริ่มบ่มเพาะคนตั้งแต่ในระดับเยาวชนให้มีความคิดความอ่านเปิดกว้าง รู้จักใช้ทักษะการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาได้ถูกจุด ตรงวัตถุประสงค์ ตลอดจนสามารถพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์เพื่อหาวิถีทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับบริบท เพื่อนำมาตกผลึกและพัฒนาออกมาเป็นบอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคมตามความสนใจของแต่ละทีม อย่างที่เราได้ทดลองเล่นบอร์ดเกมของแต่ละทีมในวันนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นว่าแต่ละทีมมีมุมมองต่อปัญหาสังคมรวมถึงวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนแต่เป็นความคิดที่สร้างสรรค์ทั้งสิ้น เราถือว่าโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการให้เยาวชนได้พัฒนาตนเองเพื่อเป็นนวัตกรที่ดีของสังคมไทยต่อไป”
ด้านคนรุ่นใหม่ อย่าง Zommarie หรือ มารี เออเจนี เลอเลย์ ศิลปินและยูทูปเบอร์ชื่อดัง ที่มาร่วมเป็นแขกรับเชิญภายในงาน เล่าว่า “ปกติเล่นบอร์ดเกมเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งเรามองบอร์ดเกมเป็นกิจกรรมที่ทำให้เรากับคนรอบตัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้อย่างสนุกสนานและได้ใช้ทักษะความคิดต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน แต่การมาร่วมงาน Games & Learning 2020 ในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดมุมมองต่อบอร์ดเกมในฐานะเครื่องมือที่สามารถนำมาช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก เพราะทำให้ผู้เล่นได้รับความรู้ในประเด็นต่างๆ ผ่านการเล่นบอร์ดเกม ซึ่งไม่ได้มีแค่สาระเท่านั้น แต่ยังคงไว้ซึ่งความท้าทายและความสนุกอีกด้วย ถือว่า 14 บอร์ดเกมที่ถูกรังสรรค์โดยน้อง ทั้ง 14 ทีมนี้เป็นมิติใหม่ของการแก้ไขและพัฒนาสังคม”
โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2 มีเยาวชนทั้งหมด 14 ทีมที่ผ่านเข้ารอบและได้ร่วมพัฒนาทักษะเพื่อเป็นนวัตกรรุ่นใหม่กับโครงการ เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับออกแบบบอร์ดเกมและเรียนรู้ทักษะความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในการอบรมโมดูลที่ 1 ตลอดจนการอบรมในโมดูลที่ 2 เพื่อพัฒนาเกมต้นแบบ (Game Prototype) ปรับปรุงกลไกแบบเจาะลึกเพื่อสร้างความสนุกในเกม รวมไปถึงการนำบอร์ดเกมของแต่ละทีมมาให้พี่ๆ บอร์ดเกมเมอร์และเพื่อนๆ ทีมอื่นในโครงการทดลองเล่นอีกด้วย ซึ่ง 14 บอร์ดเกมจากทั้ง 14 ทีม ประกอบไปด้วย
กลุ่มเกมการพัฒนาสังคม
- เกมTrashia Islandประเด็นการกำจัดขยะอย่างเหมาะสม โดย โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา
- เกมMe we worldประเด็นการใช้พลังงานและทรัพยากร โดย โรงเรียนโพธิสารพิทยากร
- เกมNanny Fairyประเด็นการเสริมสร้างพัฒนาการให้เด็ก โดย โรงเรียนปัญญาทิพย์
กลุ่มเกมการดูแลสุขภาพ
- เกมPick herb upประเด็นสมุนไพรสู่ชุมชน โดย โรงเรียนปราจีนกัลยาณี
- เกมSugar Addictประเด็นติดหวาน โดย โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
- เกมSurvivor from black snowประเด็นเขม่าควันอ้อย โดย โรงเรียนวัชรวิทยา
- เกมSave health Save Lifeประเด็นสุขลักษณะของเด็กไทยและเด็กพลัดถิ่นในอำเภอแม่สอด โดย โรงเรียนสรรพ-วิทยาคม
กลุ่มเกมวัยรุ่นศาสตร์
- เกมWhat happened in my schoolประเด็นการ bully ในโรงเรียน โดย โรงเรียนสรรพวิทยาคม
- เกม#LostinErosประเด็นเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน โดย โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 2
- เกมMentalismประเด็นการค้นหาตัวเอง โดย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต
- เกมDepressoสุข..ไม่เศร้า ประเด็นโรคซึมเศร้า โดย โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม
- เกมCheating101 ประเด็นโกงข้อสอบ โดย โรงเรียนบ้านหมากแข้ง
- เกมE.F.D. (Escape From Danger)ประเด็นการคุกคามทางเพศ โดย โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์
- เกมUnplugged Codingประเด็น Coding โดย โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี
แม้ว่าบอร์ดเกมของทั้ง 14 ทีมจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้สามารถเล่นได้แล้ว แต่บททดสอบของเหล่านวัตกรนั้นยังไม่จบ เพราะหลังจากกิจกรรม GAMES & LEARNING 2020 ทุกทีมจะต้องนำผลงานบอร์ดเกมของตนเองไปลงพื้นที่จริงเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้ทดลองเล่นไปพร้อมกับการประเมินผลจากเหล่าคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของนวัตกรและคุณภาพของบอร์ดเกมที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา แต่ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น เรายังคงต้องติดตามกันต่อไป โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ @tu.banpu