‘WHO’ ชี้ยา Dexamethasone รักษาผู้ป่วยโควิดรุนแรงได้
องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)ชี้ชัด Dexamethasone เป็นยาตัวเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยโควิดรุนแรงได้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (16 ต.ค.) องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยผลล่าสุดจากการทดลองระหว่างประเทศของยารักษาโรคโควิด-19 จำนวน 4 ตัวบ่งชี้ให้เห็นว่า ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพ “เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย” ในการป้องกันการเสียชีวิตหรือลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล
ดับเบิลยูเอชโอ ได้ยุติการทดลองยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) ที่ทดลองร่วมกับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ในเดือนก.ค. โดยระบุว่า การรักษาด้วยยาดังกล่าวช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“ผลการทดลองในปัจจุบันยังบ่งชี้ให้เห็นว่า ยาที่เข้าร่วมทดลองอีก 2 ตัวได้แก่ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการป้องกันการเสียชีวิตหรือลดเวลารักษาตัวในโรงพยาบาล” นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูเอชโอ แถลง พร้อมเสริมว่า ผลดังกล่าวได้มาจากการทดลองในโครงการโซลิดาริที ไทรอัล (Solidarity Trial) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของดับเบิลยูเอชโอ
นายแพทย์ทีโดรส กล่าวด้วยว่า โครงการทดลองดังกล่าวยังคงเปิดรับสมัครผู้ป่วยราว 2,000 รายต่อเดือน และจะประเมินการรักษาด้วยแนวทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) และยาต้านไวรัสตัวใหม่
“ขณะนี้ยาเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยังคงเป็นยารักษาเพียงตัวเดียวที่มีประสิทธิผลต้านโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง” นายแพทย์ทีโดรส กล่าว พร้อมคาดการณ์ว่า ผลการทดลองฉบับสมบูรณ์จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำในไม่ช้านี้
ทั้งนี้ โครงการโซลิดาริที ไทรอัล ซึ่งเปิดตัวในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เป็นการทดลองรักษาโรคโควิด-19 แบบสุ่มขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผู้ป่วยเกือบ 13,000 ราย จากโรงพยาบาล 500 แห่งใน 30 ประเทศเข้าร่วมการทดลอง
ขณะที่โลกกำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อควบคุมการระบาดใหญ่นั้น หลายประเทศทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ต่างกำลังเร่งแสวงหาวัคซีนป้องกัน โดยเว็บไซต์ของดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า ทั่วโลกกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 198 รายการ และเมื่อนับจนถึงวันที่ 15 ต.ค. มีวัคซีน 42 รายการอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิก