'อ็อกซฟอร์ด' เลือกไทยฐานผลิตวัคซีน 'โควิด-19' ป้อนตลาดอาเซียน

'อ็อกซฟอร์ด' เลือกไทยฐานผลิตวัคซีน 'โควิด-19' ป้อนตลาดอาเซียน

รองโฆษกรัฐบาลเผยไทยมีโอกาสได้รับ “วัคซีนโควิด-19” ลำดับต้นๆ ของโลก หลังอ็อกซฟอร์ด ลงนาม ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนต้านโควิดโดยใช้โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก่อนกระจายไปยังตลาดอาเซียน

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนไทย โดยมีความพยายามผลัดดันให้ประชาชนชาวไทย เป็นประเทศแรกๆของโลกที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยในการเตรียมความพร้อมเรื่องสาธารณสุขและการรับมือกับโควิด-19 รัฐบาลได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องวงเงินจากการจัดสรรวงเงินตามเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่มีการจัดสรรไว้ให้ใช้ด้านสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาวัคซีนวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ยังมีการจัดสรรงบกลางฯในปี 2564 อีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการจัดหาและผลิตวัคซีนด้วยด้วย
 
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) การผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด-19 ร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด  จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งการผลิตวัคซีนนั้น มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเริ่มทดลองกับมนุษย์แล้ว
สำหรับความร่วมมือนี้ ไทยและอ๊อกซฟอร์ด จะใช้โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นแหล่งผลิตวัคซีน โดยการลงนามครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือด้วยการประสานงานของเอสซีจี ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมงานด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดมายาวนาน
และในหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดยังได้ให้สิทธิประเทศไทยในการจัดจำหน่ายวัคซีนให้แก่ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วย แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพด้านการสาธาณสุข มีความสามารถที่จะใช้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งมีความสำคัญต่อประชากรโลก และจะทำให้คนไทยได้รับวัคซีนเป็นประเทศแรกๆของโลก นอกจากนี้ ยังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัย ซึ่งแสดงถึงความคืบหน้าไปอีกขั้นในการจัดหาวัคซีนวิจัยมาใช้ในประเทศ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
"นอกจากนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหาวัคซีนหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น การจองล่วงหน้าจากต่างประเทศ และสนับสนุนการผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพื่อให้ได้วัคซีนอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยเล็งเห็นว่าวัคซีน มีความสำคัญในการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกขณะนี้" นางสาวไตรศุลี กล่าว