ตร.ยันใช้ยุทธวิธีคุมม็อบ ตามหลักกฎหมายสากลภาย เตือนส่งต่อ 'เฟคนิวส์' ผิด พ.ร.บ.คอมฯ
ตำรวจยันใช้ยุทธวิธี ตามหลักกฎหมายสากลภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เตือนส่งต่อ “เฟคนิวส์” ผิด พ.ร.บ.คอมฯ พร้อมเตรียมผู้เชี่ยวชาญชี้แจงส่วนผสมในน้ำควบคุมฝูงชน
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลา 12.00 น. พลตำรวจตรียิ่งยศ เทพจำนง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ชุมนุมที่ผ่านมาโดยย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายขณะนี้เป็นกฎหมายเฉพาะกับผู้ชุมนุม ไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมใดๆ ที่จะนำไปสู่ความไม่สงบ หากมีความจำเป็นทางศูนย์ กอร.ฉ. จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเน้นทำให้สังคมสงบ ส่วนเรื่องรายละเอียดของคดีรวมถึงการนัดรวมพลกันของผู้ชุมนุมขอให้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้ชี้เเจง
ส่วนที่นักสิทธิมนุษยชนเเละนานาชาติตั้งข้อสังเกตถึงการกระชับพื้นที่ของตำรวจเมื่อวันที่16 ตุลาคมที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามหลักสากลจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ขอยืนยันทุกอย่างเป็นหลักสากลและตำรวจปฏิบัติภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีการใช้กฎหมายพิเศษหลังมีประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง สำหรับส่วนผสมในน้ำที่ใช้ในปฏิบัติการกระชับพื้นที่เมื่อวันที่16 ตุลาคมนั้น หลังจากนี้จะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีชี้เเจงกับสื่อมวลชนอีกครั้ง เเต่ยืนยันใช้ตามหลักสากล
ด้าน พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกตำรวจแห่งชาติ ระบุกล่าวถึงกรณีมีผู้ไม่หวังดีปลอมประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องการกำหนดสถานที่ควบคุมเพิ่มเติม โดยได้บิดเบือนว่าประกาศดังกล่าว ลงวันที่ 17 ตุลาคม2562 และคำสั่งดังกล่าวเป็นโมฆะ ซึ่งข้อเท็จจริงราชกิจจาฯ ดังกล่าว ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 และสามารถตรวจสอบเอกสารของจริงได้ในเว็บไซต์ราชกิจจาฯได้
นอกจากนี้ขอชี้เเจงกรณีภาพที่มีการเผยเเพร่ในโซเชียลที่เป็นภาพตำรวจลักษณะก้มลงมองพื้น พร้อมระบุข้อความในลักษณะว่าตำรวจคนดังกล่าวกำลังพ่นสีสเปรย์กับพื้นถนน เพื่อ ให้ผู้อ่านเข้าใจว่าตำรวจเป็นคนสร้่างสถานการณ์ ประเด็นนี้ ขอชี้เเจงว่า ภาพนั้นเป็นเหตุการณ์ภายหลังการชุมนุมที่ห้าเเยกลาดพร้่าว ตำรวจเข้าไปตรวจสอบเเละถ่ายภาพส่งผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งการกระทำของผู้โพสต์เเละข้อความภาพดังกล่าวมีความผิดข้อหาสร้างข้อมูลเท็จเเละบิดเบือนข้อเท็จจริง ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ขณะที่ พันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ชุมนุมมีการนัดแนะในโลกออนไลน์ไปปิดสื่อบางสำนักนั้น ทางเจ้าหน้าที่มีมาตรการเฝ้าระวังดูแลสถานการณ์ และพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติให้ทันกับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา