ตลาดผู้สูงอายุแนวโน้มเติบโตทะลุ 2 แสนล้านบาท

ตลาดผู้สูงอายุแนวโน้มเติบโตทะลุ 2 แสนล้านบาท

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการณ์ประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคน ในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 และลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี ซึ่งในปี 2583 คาดลดลงร้อยละ -0.2 ต่อปี คาดมีประชากรทั้งหมดราว 65.4 ล้านคน

ทั้งนี้ ในจำนวนประชากรดังกล่าว พบว่า ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (ร้อยละ 31.28) ในปี 2583 โดยในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด

เช่นเดียวกันอัตราส่วนของวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คน ในปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583

160304352492

ด้วยสถานการณ์ของไทยที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงถือได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และมีความต้องการครอบคลุมอยู่ในหลายธุรกิจ "ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล"  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสำคัญกับตลาดผู้สูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้ที่ผ่านมามูลค่าตลาดในกลุ่มผู้สูงอายุสูงถึง 107,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Product มูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท และที่เหลือเป็นมูลค่าตลาดด้าน Service

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น อาทิ โครงการเรียลเอสเตท เช่น กรมธนารักษ์ หรือ กรุงเทพมหานคร ที่สร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมูลค่ามหาศาล และในอนาคตจะมีที่พักอาศัยที่เป็นรูปแบบให้ผู้สูงอายุอยู่ และมีพยาบาล แพทย์ ดูแล 24 ชั่วโมง มีเฮลท์แคร์ ดูแลความสะดวก เรียกว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม

160304352178

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็เริ่มเข้ามาเข้าสู่ตลาดสูงวัยจำนวนมาก ขณะที่ด้านการเงิน ปัจจุบันผู้สูงวัยเริ่มมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด เริ่มเป็นคนที่มีกำลังซื้อ เริ่มวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยไม่รบกวนลูกหลาน มีการซื้อกองทุน บริหารด้านการเงิน และวางแผนใช้ชีวิตในการท่องเที่ยว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ดังนั้น มูลค่าตลาดผู้สูงวัยจะขยายโตขึ้น และคิดว่าไม่ได้โต 5 – 10% เหมือนปีที่ผ่านมา เพราะโครงการอสังหาริมทรัพย์จะมีมากขึ้น และหุ่นยนต์เริ่มมา ผู้สูงอายุชอบมาก เนื่องจากเป็นเพื่อนและผู้ช่วยได้

“นอกจากนี้ เครื่องสุขภัณฑ์ ดีไซน์การแต่งบ้าน การทำห้องสำหรับผู้สูงอายุ ห้องอาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุเพื่อความสะดวก สิ่งเหล่านี้จะถูกดีไซน์มาพิเศษ ทำให้มูลค่าการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อย 2 ดิจิท จากการพัฒนา เรซิเด้นซ์ หุ่นยนต์ และสินค้าและบริการต่างๆ ที่ทำให้สูงวัยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ตลาดสูงวัยที่ผ่านมามีการเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 5-7% ต่อปี หลังจากนี้หากทางภาครัฐมีตัวเลขสถิติว่าปี 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ สิ่งที่จะต้องวางแผนในด้านเศรษฐกิจ หรือ สังคม รับรองว่าในส่วนของผู้สูงวัยจะเป็นภาพใหญ่ของการบริหารจัดการของภาครัฐ ในการวางดูแลกลุ่มผู้สูงวัยอย่างไรให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

160304351915

หลังจากปี 2564 การเติบโตของตลาดผู้สูงอายุจะมากขึ้น 10 – 15% ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก เรซิเด้นซ์ เป็นธุรกิจที่มูลค่าสูง และหากเอกชนเข้ามาร่วมออกแบบ ลงเล่นธุรกิจนี้มากขึ้น นอกจากในกทม. แล้ว จะทำให้มีการขยายไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย เช่น รีสอร์ทที่เป็นบ้านสำรองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ต้องการจะไปพักผ่อน ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ จะเติบโตตามไปด้วย”

ทั้งนี้ การก้าวสู่สังคมสูงวัยยังถือเป็นโอกาสของธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาจับตลาดผู้สูงอายุศักดิ์ชัยกล่าวต่อไปว่า หากลองสังเกตจะเห็นว่าผู้ประกอบการเริ่มลงมาแข่งขันในตลาดนี้อย่างสมบูรณ์ เช่น สินค้าปกติทั่วไป จะมี Category หนึ่งที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย เช่น เตียง มีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อผู้ป่วยติดเตียง ลดแผลกดทับ มีการพัฒนาสินค้าใน Category ให้มีความพิเศษขึ้นมากขึ้น รวมถึง อาหาร เครื่องดื่ม สุขภาพ เริ่มมีอาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย อุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ มีการแยกชัดเจน

160304351570

“กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ทางภาครัฐเริ่มประชาสัมพันธ์อยากให้คนไทยที่เข้าสู่สูงวัย มีการวางแผนชีวิต วางแผนการเงิน ตั้งแต่อายุ 55 ปีเป็นต้นไป และหลังจากที่เกษียณจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น สินค้าและบริการเกี่ยวกับผู้สุงอายุ จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้นในอนาคต”

ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดอยู่ที่ 10.7 แสนล้านบาท ยังเป็น Blue Ocean อยู่ หากปี 2564 ภาครัฐให้ความสำคัญ และธุรกิจต่างๆ เริ่มดีไซน์เซกเมนต์เกี่ยวกับผู้สูงวัยขึ้นมา จะกลับมาเป็น Red Ocean การแข่งขันตรงนี้ จะสูงขึ้น และมีสินค้ามากมายหลากหลายมากขึ้น และมองว่ามูลค่าตลาดอย่างน้อย 2 แสนล้านไม่ได้อยู่ไกล หากสามารถพัฒนางานนี้ให้ซึ่งรวบรวมสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ให้เป็นจุดเชื่อมโยงตลาดกลุ่ม CLMV มาดูสินค้าและบริการ สั่งผลิต สั่งซื้อ จากไทย โดย งานอินเตอร์ แคร์ จะเป็นจุดแมชชิ่ง เป็น B2B (Business-to-business) เพื่อส่งสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ

160304351750

ขณะเดียวกันลูกหลานสามารถดูแลผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือนการหกล้ม หรือการติดกล้องวงจรปิดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ส่งสัญญาณจากที่บ้านไปยังสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา หรือการแพทย์ทางไกล รวมถึงมีนวัตกรรม หุ่นยนต์ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุ อุปกรณ์ Smart Home เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบายภายในบ้านจาก Hafele ที่จำลองการออกแบบห้องน้ำเหมาะกับผู้สูงวัย

160304351618

มีการใช้เทคโนโลยีประตูห้องน้ำสำหรับผู้ใช้ Wheel Chair มือจับประตูยับยั้งแบคทีเรีย อุปกรณ์ช่วยพยุงหลายหลายรูปแบบ เฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และกิจกรรมจาก OPPY Club คอร์สการใช้เทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ เช่นการใช้ YouTube โซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งได้นำสินค้าเพื่อผู้สูงอายุที่หลากหลายมาจัดแสดงด้วย เช่น อาหารนุ่มสูตรพิเศษจาก SOFT spoon เตียงสำหรับผู้ป่วยหรือมีปัญหาแผลกดทับ จาก APEX ไข่ขาวต้มพร้อมทานแบบแท่ง Eighty Eight สินค้าและบริการทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานของคนไทยทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพ รองรับสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ

  • 90 กว่า% ผู้สูงอายุไม่มีเงินออม

ขณะที่ “นพ.สกานต์ บุนนาค” ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่าผู้สูงอายุไทยในประเทศไทยจากการศึกษาวิจัย พบว่ามีเพียง 5% เท่านั้นที่มีกำลังในการซื้อ หรือเข้าถึงระบบบริการเทคโนโลยีชั้นสูงในการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ตนเอง ส่วนอีก 90 กว่า% ยังต้องการความช่วยเหลือในหลายด้าน เนื่องด้วยผู้สูงอายุในไทยไม่มีเงินออม และรัฐไม่ได้มีกำลังเพียงพอในการสนัลบสนุน ดังนั้น การดูแลสุขภาพ และการเสริมสร้างทักษะ การพยายามนำเรื่องของธนาคารเวลา จิตอาสา สร้างเครือข่ายก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบมีความสำคัญ”นพ.สกานต์ กล่าว

160304352215

นอกจากการสร้างนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ การอบรมเสริมอาชีพจะมีความจำเป็นในการสร้างผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพแล้ว เรื่องที่อยู่อาศัยก็สำคัญไม่ต่างกัน เพราะผู้สูงอายุของไทย อยากอยู่บ้าน อยู่ถิ่นฐาน ชุมชน อยู่กับครอบครัวมากกว่าไปอยู่ในสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ "ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี" คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่าจากการศึกษา พบว่าผู้สูงอายุต้องการอยู่ที่บ้าน ชุมชนของตนเองมากกว่าจะไปอยู่ที่อื่น หรือสถานดูแล ดังนั้น การจะทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพได้ ส่วนหนึ่งต้องทำให้พวกเขาสามารถอยู่ในถิ่นของตนเองได้

160304351911

“ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุ อย่างในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ ฐานะดีอาจปรับบ้านเป็นสมาร์ทโฮม มีระบบในการดูแลผู้สูงอายุครบวงจร หรือมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ออกแบบเพื่อคนทุกช่วงวัย แต่ถ้าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีรายได้ ควรจะมีการดูแลในระบบทางไกลมากขึ้น เติมทรัพยากรบุคคล อย่าง อสม. ให้เข้ามาช่วยเติมเต็มระบบสาธารณสุข ต้องมีแพลตฟอร์มในการรองรับ และควรจะการเพิ่มรายได้ในบ้านของตนเอง หรือประกอบการอาชีพในบ้าน เช่น เปิดร้านขายของชำ หรือ ชุมชนมีการเปิดให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน เป็นต้น” ผศ.ดร.อันธิกา กล่าว