'ดีอีเอส'เตรียมแจ้งความผู้ใช้โซเชียลฯ พบกว่า3แสนยูอาร์แอลเข้าข่ายความผิด
"พุทธิพงษ์" เผย เป็นวันแรกที่จะทยอยแจ้งความ ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เข้าข่ายผิดกฎหมาย มอบ "รองปลัดดีอีเอส" ดำเนินการ ระบุ มีสำนักข่าว รวมอยู่ด้วย บางเพจมีคำสั่งศาล ต้องปิด ชี้ มีกว่า 300,000 ยูอาร์แอล ส่อทำผิด
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงนี้ที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง อาจจะเข้าข่ายความผิด ว่า เราติดตามเฝ้าระวัง ถ้ามีการสื่อสารในโซเซียลมีเดียที่เป็นปัญหา ผิดกฎหมายเราก็มีความจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย เพราะขณะนี้มีประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยวันเดียวกัน (19 ต.ค.) จะมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงดีอีเอสไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย อาจจะมีทั้งคนที่แชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเราได้ทยอยดูว่าจะสามารถระบุได้ว่าเป็นใครบ้าง วันนี้ถือเป็นวันแรกที่จะไปแจ้งความ และหลังจากนี้จะทยอยแจ้งความ จึงอยากเตือนประชาชนว่าการใช้โซเชียลมีเดียใช้ได้ แต่ต้องระมัดระวังเพราะขณะนี้มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีข้อจำกัดมากขึ้นในเรื่องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก
ผู้สื่อข่าวถามว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประสานว่าให้มีการปิดเว็บไซต์ข่าวหรือเพจที่เชิญชวนไปนัดหมายชุมนุมหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ไปแจ้งความจะไปแจ้งสำนักข่าวที่รายงานข่าวเข้าข่ายความผิด
เมื่อถามว่า โทษจะถึงขั้นปิดหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ต้องดูเป็นขั้นตอนต่อไป อย่างบางเพจก็มีคำสั่งศาลมาว่ามีความผิด เราจึงจะต้องประสานให้ปิด บางส่วนที่เป็นสื่อดิจิทัลต้องหารือกับ กสทช. ส่วนสื่อออนไลน์ในโซเชียลมีเดีย ในขั้นแรกเราจะประสานเตือนไปก่อน แต่ก็ต้องโดนดำเนินคดีอยู่แล้ว วันนี้ที่เราจะไปแจ้งความมีอยู่ 2-3 ราย มีทั้งเพจเฟซบุ๊กที่ออกเป็นช่องสถานีข่าว เรามีการเก็บข้อมูลหลักฐานไว้ เพราะเข้าความผิดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วประสานหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ส่วนที่เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ทางดีอีเอสจะดำเนินการเลย ยืนยันว่าเราระมัดระวัง ทำอย่างรอบคอบ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เรามีการติดตามทุกคน และขณะนี้มีผู้ใช้ประมาณกว่า 300,000 ยูอาร์แอล ที่เข้าข่ายกระทำความผิด กำลังทยอยดูว่าในจำนวนนี้มีอันไหนที่สามารถยืนยันตัวตนว่ามีความผิดได้ โดยจะดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า เอกสารที่มีการแชร์คำสั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงสั่งให้ กสทช. และดีอีเอส ตรวจสอบและระงับการนำเสนอข่าวของ Voice TV, ประชาไท, The Reporter, THE STANDARD, เยาวชนปลดแอก Free YOUTH เป็นของจริงหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า บางคำสั่งก็เป็นของจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอัน
เมื่อถามว่า มีอีกมุมหนึ่งมีการมองว่ารัฐบาลใช้กฎหมายไปปิดกั้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เราระมัดระวังอยู่แล้ว เราดูว่าอะไรที่จะดำเนินคดีได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปดำเนินคดีทุกคน ถ้าไม่ได้เข้าข่ายกฎหมายหรือมีความผิดชัดเจนในเรื่องการใช้คำพูดหรือการยุยงเราก็ไม่ดำเนินคดี ตนคิดว่าเรารอบคอบและระมัดระวังมาก ยืนยันว่าไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใครแน่นอน ซึ่งในบางกรณีไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายเราก็ยังติดตามดูอยู่