หวั่นกำไรหุ้นรถไฟฟ้ากระทบหนัก หลังม็อบส่อยื้ดเยื้อกว่าคาด
ท่ามกลางพรก. ฉุกเฉินสถานการณ์ร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ กับการเดินหน้าออกมาเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนและประชาชนเริ่มเห็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมายทางความคิดที่แตกต่างกันผ่านสื่อออนไลน์ที่รวดเร็วในยุค 5G
ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดปรากฎกาณณ์ชุมนุมแบบดาวกระจายหลายจุดในกรุงเทพ และยังมีให้เห็นในต่างจังหวัดในพริบตา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้เพียงการเมืองร้อนแรงและพัฒนาไปไกลเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อภาคธุรกิจทั้งทางตรงและอ้อมไปด้วย
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มีการประกาศปิดให้บริการขนส่งมวลชนอย่าง ‘รถไฟฟ้า’ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการใช้สัญจรของคนในเมืองหลวงที่การจราจรติดขัดทุกวันอย่างกรุงเทพฯ
ที่เรียกว่าหัวใจเพราะเส้นทางทั้งรถไฟฟ้าบนดิน ที่บริหารจัดการโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)หรือBTS รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ MRT ที่บริหารจัดการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้เชื่อมโยงเส้นทางนอกเมืองเข้าสู่เมือง ผ่านถนนสายเศรษฐกิจใจกลางแหล่งช้อปปิ้งไว้หมด
ยิ่งการขยายเส้นทางให้บริการทั้ง BTS ไปยังสายทีเขียวตอนเหนือ หมอชิต –คูคต และ MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหลักสอง – ท่าพระ ที่ให้บริการครบทั้งเส้นทำให้เพิ่มปริมาณผู้โดยสานเฉลี่ยได้เป็นเท่าตัว ดังนั้นเมื่อมีการประกาศหยุดให้บริการในช่วงเย็นของวันที่ 16 ต.ค. ในบางสถานี และปิดให้บริการในวันที่ 17-18 ต.ค. ในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ราคาหุ้นที่ทำการซื้อขายวานนี้ (19 ต.ค.) ปรับตัวลดลงทันที
หุ้น BTS มาปิดที่ระดับราคา 9 บาท ลดลง 3.74 % ทำราคาต่ำสุดที่ 8.85 บาท ขณะที่หุ้น BEM มาปิดที่ราคา 8.15 บาท ลดลง 4.12 % ระหว่างวันทำราคาต่ำสุดที่ 7.95 บาท โดยราคาหุ้นได้สะท้อนความกังวลว่าการปิดให้บริการที่เกิดขึ้นกระทบจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงและมีผลต่อรายได้ตามมา
หากสถานการณ์ยังยื้ดเยื้อมากขึ้นอาจมีการปิดให้บริการในสถานีสำคัญยิ่งกระทบมาขึ้น ซึ่งในกรณีของ BTS มีการประมาณการณ์กันผู้โดยสารลดลงเฉลี่ยวันละ 100,000 กว่าเที่ยวคนต่อวัน จากปกติในวันเสาร์จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000 เที่ยวคนต่อวัน และวันอาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 400,000 เที่ยวคนต่อวัน
ที่ผ่านมาทั้ง BTS และ MRT เผชิญปัจจัยลบจากการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงกลาง มี.ค. – พ.ค. ที่ผ่านมา จนทำให้ยอดผู้โดยสารลดลงจำนวนมาก จนทำให้ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2 ปี 2563 ได้รับผลกระทบเต็ม จำนวนผู้โดยสาร BTS ในงวดไตรมาส 1 ปี2563/2564 (เม.ย.-มิ.ย.) อยู่ที่ 18.5 ล้านเที่ยวคน ลดลงมากถึง 69 % จากปีก่อนและลดลง 63.4 % จากไตรมาสก่อน (ม.ค.- มี.ค.) ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 50 ล้านเที่ยวคน ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการสถานการณ์โควิด -19 แต่หลังจากเดือนก.ย. ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 7 แสนคนต่อวันใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด -19 อยู่ที่เฉลี่ย 8 แสนคนต่อวัน
หากเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยของ BTS อยู่ที่ 29.90 บาทต่อเที่ยว อาจจะคิดกลับเป็นเม็ดเงินรายได้ที่หายไปวันละ เกือบ 3 ล้านบาท ส่วน BEM จำนวนผู้โดยสารเริ่มฟื้นเช่นกันเดือนก.ย. อยู่ที่ 310,000 เที่ยวคน ค่าโดยสารเฉลี่ย 27.68 บาท หากจำนวนผู้โดยสารหายประมาณ 1 แสนคน ต่อวันเม็ดเงินหายไปใกล้เคียงกับ BTS
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย)ประเมินกรณีชุมนุมยืดเยื้อจนต้องปิดบริการกระทบกำไร BTS และ BEM ทุกสถานีชั่วคราวทุกๆ 1 วัน(ปิดทั้งวัน)กระทบประมาณการณ์กำไร 0.5 % และ 0.6 % ตามลำดับ