6 เดือนแบงก์ปิด 200 สาขา รับพฤติกรรมเปลี่ยนหลัง“โควิด”
ผลกระทบจาก วิกฤติไวรัสโคโรนา สายพันธ์ุใหม่ หรือโควิด-19 จากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่ดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัดเจน
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า ในช่วงมี.ค. ที่โควิด-19 แพร่ระบาด และมีการล็อกดาวน์ในประเทศ ยอดทำธุรกรรมการเงินบนช่องทางดิจิทัลปรับตัวสูงก้าวกระโดด
โดยยอดพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นถึง 1.2ล้านหมายเลข หากเทียบกับสิ้นปี 2562 ทำให้ยอดการลงทะเบียนก้าวกระโดดมาอยู่ที่ 51 ล้านหมายเลข ขณะที่ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ต และโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นถึง 69% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดสมัครโมบายแบงกิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง เพิ่มขึ้นสูงถึง 3.1ล้านบัญชี หากเทียบกับสิ้นปี 2562
ในทางกลับกัน การพึ่งพาการทำธุรกรรมทางการเงิน ผ่านช่องทางเดิมๆ เช่นสาขา ที่เคยเป็นที่พึ่งหลักในอดีต ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จากข้อมูลของธปท.ล่าสุดจนถึง ส.ค. 2563 พบว่า ธนาคารพาณิชย์มีปรับลดสาขาลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น
หากดูภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ(BBL), ธนาคารกรุงไทย(KTB),กรุงศรีอยุธยา(BAY) ไทยพาณิชย์(SCB)กสิกรไทย(KBANK)ทหารไทย(TMB), เกียรตินาคินภัทร(KKP),ซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT),ทิสโก้(TISCO)ยูโอบี(UOB), แลนด์แอนด์เฮ้าส์(LH) ธนชาต(TBANK)เกือบทุกธนาคารมีการปรับลดสาขาลงต่อเนื่อง
โดยตั้งแต่มี.ค.-ส.ค.63 มีการปิดสาขารวมทั้งสิ้น 201 สาขา แต่หากรวมสาขาที่เปิดเพิ่ม 57 สาขาแล้ว ยอดปิดสาขาโดยรวมจะอยู่ที่ 144 สาขา โดยธนาคารที่ปรับลดสาขามากที่สุด คือ SCB ปิดไปถึง 66 สาขาในรอบ 6 เดือน รองลงมาคือ KTB ที่ 64 สาขา และธนชาต 36 สาขา ขณะที่แบงก์ที่เปิดสาขาเพิ่มแบงก์เดียว คือ TMB ที่เปิดสาขาเพิ่มในรอบ 6 เดือนที่ 57 สาขา
แต่อย่างไรก็ตาม หากดูจำนวนสาขาทั้งหมดของทั้ง 12 ธนาคาร นับตั้งแต่ธ.ค.2562 -ส.ค.2563 พบว่าสาขาโดยรวมอยู่ที่ 5,961 สาขา ลดลง 216 สาขา หากเทียบกับสิ้นปีก่อนที่มีสาขาทั้งสิ้น 6,177 สาขา
อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า จากโควิด-19 ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าธนาคารอย่างชัดเจน โดยพบว่า มีลูกค้าธนาคาร บนช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ยอดการทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง หรือ SCB EASY สูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่าของธนาคาร
แต่ขณะเดียวกัน พบว่าการทำธุรกรรมผ่านสาขาของธนาคาร มีความต้องการลดลง ซึ่งเห็นทิศทางต่อเนื่อง มาตั้งแต่ 2562 ทำให้ที่ผ่านมา ธนาคารมีการทบทวนบทบาทของสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดสาขาลง บางจุดมีการควบรวมสาขา เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปพึ่งพาดิจิทัลมากขึ้น
“ทิศทางสาขาลดลงแน่นอน ซึ่งเป็นภาพเดียวกันทุกแบงก์ เพราะวันนี้ เราเห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคหันไปพึ่งพาดิจิทัลมากขึ้น ทำให้บางจุดสาขามีความจำเป็นน้อยลง และสาขาท่ี่เราปิดส่วนใหญ่ เป็นสาขาในกรุงเทพ ที่เป็นสาขานอกห้าง ซึ่งหลังจากนี้ธนาคารก็จะติดตามการทำธุรกรรมผ่านสาขาต่อเนื่อง เพื่อปรับให้เหมาะสมกับความต้องการในอนาคตต่อเนื่องด้วย”
ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารก็การทบทวนด้านสาขาเช่นเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภค และให้สอดรับกับภูมิทัศน์ของสังคมเมืองมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เห็นการปรับลดสาขา ควบรวมสาขาของธนาคารบ้าง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารอื่นๆ
ซึ่งหลังจากนี้ ธนาคารจะมีการทบทวนด้านสาขาต่อเนื่อง ว่าเน็ตเวิร์คในการให้บริการแต่ละพื้นที่ และให้เข้ากับแต่ละกลุ่มผู้บริโภค เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น รวมไปถึงการพิจารณาการให้บริการรูปแบบใหม่ๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด เช่น การนำตู้อัตโนมัติ หรือตู้คีออส (Kiosk)มาใช้ในอนาคต