8 ส่วน 'เขียน Portfolio' ให้ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย
ครูฟิล์ม เผยเทคนิคการเขียน Portfolio ให้ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ย้ำต้องมีส่วนประกอบ 8 ส่วน เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัย
ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือที่เรียกว่าทีแคส ซึ่งมีทั้งหมด 5 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 ยื่นแฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio รอบที่ 2 โควต้า รอบที่ 3 รับตรงกลางร่วมกัน รอบที่ 4 แอดมิชชั่น และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ โดยในแต่ละรอบนั้นอาจมีการยื่นผลงาน ยื่นคะแนน วัน เวลาสอบในการรับสมัครแตกต่างกันออกไป
สำหรับ "รอบที่ 1 การยื่นแฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio "ถือเป็นรอบแรกที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้เปิดโอกาสให้นักเรียนยื่นผลงาน บอกเล่าเรื่องราวของตนเอง รวมถึงจุดมุ่งหมาย ความฝันว่าทำไมถึงเลือกเรียนสาขา คณะมหาวิทยาลัยดังกล่าว
แต่การเขียน Portfolio ให้โดนใจมหาวิทยาลัย ถุกต้องตามระเบียบ น้องๆ หลายคนอาจจะมึนงง สงสัยว่าจะเขียนอย่างไร ให้ 10 หน้าที่จะนำเสนอมหาวิทยาลัย ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนคณะที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ
ครูฟิล์ม นายพงษกร สมอบ้าน มาเล่าถึงเทคนิคการทำแฟ้มสะสมผลงานอย่างมีเป้าหมาย ในงานเด็กพิการเรียนไหนดี'64 ปั้นฝันเป็นตัว เพื่อแนะแนวน้องๆพิการและเด็กๆ ในการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน ว่า การจัดทำแฟ้มสะสมผลงานเพื่อยื่นมหาวิทยาลัยไหน หากไปค้นหาวิธีในออนไลน์คงมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งครูอยากแนะนำวิธีการจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio อย่างถูกต้อง มีเป้าหมาย และทำให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นได้โดยหลักของการจัดทำ Portfolio นั้น เริ่มแรก อยากให้นักเรียนทุกคนตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าตนเองอยากยื่นสาขาคณะ มหาวิทยาลัยใด และขอให้ดาวน์โหลด ระเบียบการของคณะ มหาวิทยาลัยนั้นๆ เนื่องจากการจัดทำ Portfolio แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีรูปแบบการจัดทำแตกต่างกัน ดังนั้น จะมองเพียงเรื่องของเนื้อหาที่น่าสนใจ ความสวยงาม แต่ต้องตรงกับระเบียนการรับสมัครของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งด้วย
"การจัดทำแฟ้มสะสมผลงาน ถูกกำหนดไว้ 10 หน้า ซึ่งใน 10 หน้านี้ ควรประกอบด้วย 8 ส่วนสำคัญ คือ หน้าปกปกใน คำนิยมหรือหนังสือรับรอง คำนำ สารบัญ ประวัติ จุดมุ่งหมายทางการศึกษาและผลงานทางกิจกรรม"ครูฟิล์มกล่าว
สำหรับ 8 ส่วนในการจัดทำ Portfolio ประกอบด้วย
ส่วนแรก หน้าปก จะต้องประกอบด้วยรูปภาพของนักเรียน ในอิริยาบถที่ไม่ก้าวร้าวสุภาพเรียบร้อยและตกแต่งแสดงถึงคณะ หรืออาชีพที่ตนเอง อยากเรียน เช่น อยากเรียนต่อคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นรูปภาพของนักเรียนใส่หมวกช่าง และถือโน้ตบุ๊ค เป็นต้น ซึ่งคณะด้านครู หรือสุขภาพ ควรเป็นภาพที่ดูเรียบร้อย แต่ถ้าเป็นสายนิเทศศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อาจใช้รูปแบบที่แสดงออกถึงความเป็นสายอาร์ต ศิลปะการแสดง เป็นต้น นอกจากนั้น ควรจะดุระเบียบการตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดด้วย อาทิ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กำหนดให้ใช้คำว่า แฟ้มสะสมงาน ใส่ชื่อสาขา คณะที่เราเลือกด้วย
ต่อมาส่วนที่ 2 ปกใน จะเป็นส่วนของการแสดงของนักเรียนประกอบ อาทิ ชื่อนักเรียน แผนการเรียนระดับม.ปลายรูปภาพ 2 นิ้ว ใส่ชุดนักเรียนเรียบร้อย และเสนอต่อสาขา คณะอะไร
ขณะที่ ส่วนที่ 3 คำนิยม (หนังสือรับรอง ) ส่วนนี้ควรใส่ (หากไม่ใส่ก็ได้) เพราะจะเป็นการการันตีจากอาจารย์ผู้สอนอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์กิจกรรม ทำให้มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากอจารย์จะต้องเป็นผู้เขียนให้แก่นักเรียนไม่ว่าจะเป็นด้านความประพฤติ การเรียน การทำกิจกรรม และต้องดูด้วยว่ามหาวิทยาลัยที่จะยื่นมีแบบฟอร์มหรือไม่ ถ้ามีต้องใช้แบบฟอร์มของมหาวิทยาลัย
ส่วนที่4 คำนำ เป็นการอธิบายถึงผลงานของนักเรียนว่าอะไรบ้าง เพื่อให้คนที่มาอ่านได้รู้ว่า Portfolio ของเรามีอะไรน่าสนใจ แต่ทั้งนี้ ในส่วนของนักเรียนที่มีผลงานจำวนมาก อาจจะไม่ต้องใส่ในส่วนของคำนำ เพื่อประหยัดจำนวน 10 หน้า เช่นเดียวกับ ส่วนที่ 5 สารบัญ เป็นการจัดเรียงเนื้อหาทั้งหมดใน Portfolio แต่หากมีผลงานมาก ส่วนนี้ไม่ต้องใส่ก็ได้
ส่วนที่ 6 ประวัติ เป็นการใส่ข้อมูลพื้นฐาน ทั้งข้อมูลส่วนตัวและประวัติการศึกษา ทำลักษณะเช่นเดียวกับเรซูเม่ในการสมัครงาน เพื่อเป็นการบอกเล่าถึงประวัติ ความสามารถของเราให้ผู้อ่านได้รับรู้
ส่วนที่ 7 จุดมุ่งหมายทางการศึกษา ส่วนนี้สำคัญมากๆ อยากเน้นย้ำให้ทุกคนใส่ในส่วนนี้ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา หลายคณะ มหาวิทยาลัยกำหนดให้นักเรียนเขียนเรียงความอยากเข้าคณะมหาวิทยาลัยเพราะอะไร ซึ่งการเขียนในส่วนนี้อยากให้นักเรียนแบ่งเป็น 3 ย่อหน้า คือ ย่อหน้าแรก เป็นการเกริ่นนำ เสนอทัศนคติ มุมมองของเราที่เกี่ยวข้องกับสาขา คณะ มหาวิทยาลัยที่เราเลือกเรียน ย่อหน้าที่ 2 เรื่องราวของเราว่าจุดเริ่มต้น อยากเรียนคณะ สาขานี้ เพราะอะไรและย่อหน้าที่ 3 ขอโอกาส ถ้าหากเราได้เรียนจะนำความร้ ประสบการณ์ไปต่อยอดทั้งตนเองและสังคมอย่างไร
ส่วนที่ 8 ผลงาน ควรเรียงผลงานตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น เขากำหนดให้ส่งผลงาน 10 ชิ้น ก็เสนอตามนั้นอย่าทำนอกเหนือที่มหาวิทยาลัยกำหนด และควรจะเปลี่ยน เลือกใช้คำในผลงานต่างๆ อย่างเหมาะสม ให้น่าสนใจอย่าเพียงอธิบายกิจกรรมอะไร ทำที่ไหน แต่ควรบอกเล่า ทำไมถึงเลือกทำกิจกรรมนี้ กิจกรรมนี้ให้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม เทคนิคในการจัดทำ Portfolio ให้ถูกใจมหาวิทยาลัยนั้น นอกจากมี 8 ส่วนประกอบสำคัญแล้ว ครูฟิล์มย้ำว่า อยากให้นักเรียนติดตามดูระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด และปฎิบัติตาม เพราะหากส่ง Portfolio ไม่ตรงกับระเบียบ หรือกับเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ต่อให้จัดทำสวยงาม ดูดีก็อาจจะไม่ได้รับการเปิดอ่าน และพลาดคณะ มหาวิทยาลัยที่ตนเองใฝ่ฝันอยากเข้าเรียนก็เป็นได้