เปิดภารกิจความมั่นคง‘หวัง อี้’ เยือนอาเซียน
เปิดภารกิจความมั่นคง‘หวัง อี้’ เยือนอาเซียน ท่ามกลางข้อสงสัยจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศว่า เหตุใดจึงได้เลือกกัมพูชา มาเลเซีย ลาว และไทย เป็นกลุ่มประเทศแรกของการเยื
ปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการเยือน 4 ประเทศในอาเซียนของหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน พร้อมกับผลงานความสำเร็จ ท่ามกลางข้อสงสัยจากผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศว่า เหตุใดจึงได้เลือกกัมพูชา มาเลเซีย ลาว และไทย เป็นกลุ่มประเทศแรกของการเยือน หลังสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในจีนได้คลี่คลายลง
ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า หวัง อี้ เป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีคนแรกที่เยือนประเทศไทย นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลกเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว และชี้ว่า จีนต้องการติดตามและสานต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ให้รุดหน้า โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน ผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับเขตอ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า
นอกเหนือจากความร่วมมือเศรษฐกิจ ยังมีเรื่องการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ซึ่งหวัง อี้ได้ให้คำมั่นว่า จีนจะจัดให้ไทยเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่เข้าถึงวัคซีน หลังจากจีนพัฒนาได้สำเร็จ ตามที่จีนประกาศให้การผลิตวัคซีนต้านโรคโควิด-19 เป็น “สินค้าสาธารณะของโลก” ที่ทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้ในราคาสมเหตุสมผล นอกจากนี้สองประเทศยังสนับสนุนข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุขของจีน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุขในภูมิภาค
การเยือนครั้งนี้ เป็นสัญลักษณ์ให้เร่งฟื้นฟูกิจกรรมต่างๆ ระหว่างไทยกับจีนให้กลับมาอีกครั้ง อาทิ การเร่งรัดการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระยะสั้นให้แก่กลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็นของ 2 ประเทศ ซึ่งจะนำร่องสู่การเปิดภาคการท่องเที่ยวในระยะต่อไป
ทั้งสองฝ่ายยังผลักดันจัดทำ “กรีนเลน” เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างกัน การอำนวยความสะดวกให้นักเรียนและนักศึกษาไทยสามารถเดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีนได้ ตลอดจนการพิจารณาให้สายการบินของทั้งสองประเทศกลับมาทำการบินพาณิชย์ในเส้นทางไทยกับจีน
ด้านกวี จงกิจถาวร นักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเยือนของหวัง อี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับจีน ครบรอบ 45 ปี
กวี ชี้ว่า หากมองในแง่ความสัมพันธ์จะเห็นว่า 4 ประเทศที่อยู่ในแผนการเยือนของหวัง อี้ ล้วนมีความใกล้ชิดเชิงการค้าการลงทุนในปัจจุบัน โดยเฉพาะจีนต้องการให้ไทยเป็นตัวกลางประสานไปยังประเทศในอาเซียนที่เป็นคู่พิพาททะเลจีนใต้ เพื่อให้จีนแน่ใจว่า การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: COC) จะสำเร็จภายใน 3 ปีตามที่จีนวางเป้าไว้
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศศรายหนึ่งมองว่า ในปีหน้า หวัง อี้ ผู้ที่สื่อทั้งในและต่างประเทศตั้งฉายาให้ว่า “จิ้งจอกเงิน” จะดำรงตำแหน่งภายใต้หมวกมนตรีแห่งรัฐครบ 4 ปี จึงต้องเร่งทำผลงาน
หวัง อี้ มีความชำนาญทางภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษและญี่ปุ่น รวมทั้งโดดเด่นด้านวาทศิลป์ทางการทูต จึงถูกวางตัวให้เป็นผู้ประชาสัมพันธ์และปกป้องจุดยืนของรัฐบาลปักกิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้ และสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี
อย่างไรก็ตาม การขยับตัวของหวัง อี้ ครั้งนี้ยังมีนัยยะด้านความมั่นคง ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่า จะสามารถปฏิบัติภารกิจการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ได้สำเร็จตรงตามเป้าที่จีนวางหรือไม่ ท่ามกลางสหรัฐรุกหนัก หวังปลุกกระแสธรรมาภิบาลในภูมิภาคนี้