นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารจะออก 2 โครงการเติมสภาพคล่องเพื่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยโครงการ เอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน และ การต่ออายุพักการชำระหนี้ลูกค้า
โครงการเพิ่มสภาพคล่องใหม่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะคลอดภายในเดือนนี้ ผ่านโครงการ “เอสเอ็มอี มีที่ มีเงิน” ซึ่งจะเปิดให้ลูกค้านำที่ดินมาขายฝากกับธนาคารออมสิน โดยให้ธนาคารวงเงินสูงสุด 70% ของราคาประเมินราชการ แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 5.99% ต่อปี และกำหนดไถ่ถอนภายใน 3 ปี
นายวิทัย กล่าวว่า ที่สำคัญธนาคารจะไม่มีการตรวจเครดิตบูโร ไม่วิเคราะห์รายได้ลูกค้า ไม่ตรวจเช็คประวัติ เพราะต้องการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยปลดล็อกเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งทุน สามารถนำเงินไปเพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจ หรือ จะนำไปรีไฟแนนซ์ขายฝากที่ก็ได้ เพราะโดยปกติแล้วการขายฝากที่ดินโดยเฉลี่ย คิดดอกเบี้ยสูงถึง 20-30% มีค่าธรรมเนีมล่วงหน้าอีกราว 10-15% และให้วงเงินประมาณ 30-50% ของราคาประเมินเท่านั้น
“เอสเอ็มอีสมัยก่อนพอมีกำไรจะไปซื้อที่ดินเก็บไว้จำนวนมาก พอขาดสภาพคล่องจะเอาที่ไปขาย แต่ปรากฎว่าช่วงนี้ขายไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ จะเอาเข้าแบงก์เพื่อขอสินเชื่อก็ไม่ได้ เพราะอาจมีประวัติค้างชำระ หรือ วิเคราะห์ฐานะการเงินข้างหน้าแล้วไม่ผ่าน วิเคราะห์ยาก เพราะมีปัญหาโควิดเข้ามา ก็ต้องไปขายฝาก สุดท้ายแล้วก็ถูกยึดที่กันจำนวนมาก เพราะดอกเบี้ยสูง เราก็พร้อมเปิดหน้ารบเข้าสู่ธุรกิจนี้”
เดินหน้าพักหนี้ต่อเนื่อง
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุถึง แนวคิดของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ด้วยการยืดเวลาพักชำระหนี้ออกไป หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในวันนี้ (22 ต.ค.) ว่า ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกผู้บริหารแบงก์รัฐเข้าประชุมหารือเรื่องนี้มาโดยตลอด และภายใน 1-2 วันนี้ นรัฐมนตรีจะมีการแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารออมสินได้ให้การช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้เอสเอ็มอีและบุคคลธรรมดา ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้กับธนาคาร มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ต่างจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะสิ้นสุดวันนี้
นายวิทัย กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้การช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม หลังสิ้นสุดการพักหนี้สิ้นปีนี้ แต่จะช่วยเป็นรายบุคคล เช่น ยืดเวลาพักหนี้ต่อ, ลดเงินต้น, ลดดอกเบี้ย ฯลฯ ไม่ได้ช่วยเป็นการทั่วไป เพราะ ธปท.กังวลว่าจะทำให้เสียวินัยทางการเงิน
ลูกค้าพักหนี้ 1.1 ล้านล้าน
ปัจจุบันธนาคารออมสินมีลูกค้าบุคคลธรรมดาและเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมดประมาณ 3 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินราว 1.1 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาราว 2.96 ล้านบัญชี วงเงิน 1.03 ล้านล้านบาท และเอสเอ็มอีอีกกว่า 4 หมื่นบัญชี วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เทียบกับหนี้ของแบงก์รัฐทั้งระบบที่ 1.9 ล้านล้านบาท หรือ ประมาณ 4 ล้านบัญชี
“นอกจากเอสเอ็มอีที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแล้ว ลูกค้ารายย่อยก็สำคัญ เพราะถ้าเราปล่อยให้เป็นเอ็นพีแอล ต่อไปเขาจะดำเนินการติดต่อกับแบงก์ยากมาก เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปช่วย เป็นเรื่องที่เราหารือกับกระทรวงการคลัง และรับนโยบายจากท่านรัฐมนตรีให้หามาตรการมาดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ แม้มาตรการพักหนี้ของเราจะหมดสิ้นปี แต่ระหว่างทางถ้าใครคิดว่าตัวเองไม่ไหวสามารถมาติดต่อกับธนาคารได้ทันที”
ส่วนการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการเติมสภาพคล่องอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เช่น สินเชื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 วงเงิน 10,000 บาทต่อราย ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.5 ล้านราย ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะในสถานการณ์ปกติธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าเฉลี่ยปีละ 4 แสนคน เท่านั้น ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ถึงสิ้นปี 2563
นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อสำหรับพ่อค่า แม่ค้า ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 50,000 บาทต่อราย ซึ่งเริ่มปล่อยสินเชื่อไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีลูกค้าเข้ายื่นขอสินเชื่อแล้วหลักหมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ให้กับลูกค้าในกลุ่มท่องเที่ยว วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย