“มาม่า” ดึง 3 คู่จิ้นซีรี่ส์วาย ปลุกตลาดบะหมี่ฯท้ายปี
เกมของผู้นำตลาด "มาม่า" เกาะกระแสคู่จิ้นซีรี่ส์วายมาแรง ดึง 6 นักแสดงดัง "ไบร์ท-วิน, คริส-สิงโต และออฟ-กัน" เป็นพรีเซ็นเตอร์ “มาม่าOK รสหมูบะช่อทรงเครื่อง” เจาะผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ กำลังซื้อสูง
จังหวะนี้นักการตลาดคงปฏิเสธกระแส “วาย” หรือ Boys Love พฤติกรรมผู้บริโภคทั้งหญิงและชายที่ชื่นชอบไอดอล ศิลปินที่แสดงละคร ซีรี่ส์บท “ชายรักชาย” จนเป็นคู่จิ้น และน่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ “อำนาจซื้อ” ของแฟนคลับกลุ่มนี้มีมหาศาล แม้จะเป็นแฟนคลับหน้าใหม่ ไปจนถึง แฟนพันธุ์แท้หรือแฟนด้อม ต่างยินดีใช้จ่ายหรือเปย์เพื่อคู่จิ้นสุดโปรด
เทรนด์ดังกล่าว ทำให้แบรนด์ต้องเกาะติด และดึงคู่จิ้นที่ดังระดับต้นๆของเมืองไทยมาเป็น พรีเซ็นเตอร์-แบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
ล่าสุด “มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของเมืองไทย ได้ตอกย้ำความแรงของตลาด Boys Love ด้วยการดึง 6 นักแสดงหนุ่มและเป็น 3 คู่จิ้นสายวายแห่งยุค ได้แก่ ไบร์ท-วิน, คริส-สิงโต และออฟ-กัน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ “มาม่าOK รสหมูบะช่อทรงเครื่อง” ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม และเป็นสินค้าใหม่ตัวแรกที่ออกมาหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จากต้นปียังไม่มีสินค้าใหม่บุกตลาดแต่อย่างใด
ธนพัฒน์ โรจนไพบูลย์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์การตลาด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) เล่าว่า การเลือกพรีเซ็นเตอร์ 6 หนุ่มคู่จิ้นของตลาดวาย เพราะการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือกลุ่มที่ยอมซื้อสินค้าราคาแพงหรือเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม อยู่ในอายุ 15-25 ปี ดังนั้น การจะเลือกพรีเซ็นเตอร์ที่ทรงพลัง มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของคนรุ่นใหม่ ต้องเป็นศิลปิน ไอดอลที่อยู่ในกระแส
“การเลือกคู่จิ้นจากซีรี่ส์วายมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เราพิจารณาจากฐาแฟนคลับ หรือ Fan base Marketing และเซ็กเมนต์พรีเมี่ยมชัดเจนว่าผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเป็นคนรุ่นใหม่”
ทั้งนี้ การใช้ 6 คนดัง ใช้งบประมาณการตลาดหลักสิบล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมการตลาดตลอดทั้งแคมเปญ ซึ่งเป็นงบที่ใกล้เคียงกับตอนใช้ “อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ” เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าตระกูลแซ่บของมาม่า แต่งบทั้งแคมเปญใช้สูงถึง 200 ล้านบาท เพราะมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง(Mass)
ปี 2563 นับเป็นอีกปีที่ท้าทายในการทำตลาดมาม่า ซึ่ง ธนวัฒน์ มองตัวแปรสำคัญคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัดสินใจเร็วมาก แบรนด์จึงต้องปรับตัว ทำกิจกรรมตลาดให้ตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ระบาด ยังสร้างปรากฎการณ์ให้กับ “มาม่า” หลายอย่าง โดยเดือนมีนาคมยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 46% เช่นกัน เนื่องจาก “มาม่า” เกลี้ยงชั้นวาง(Shelf) ทำให้ผู้บริโภคที่ตระหนกซื้อสินค้าต้องกวาดยี่ห้อที่มีไปตุนไว้ แต่หลังจากนั้น เดือนเมษายน ยอดขาย “มาม่า” สามารถพลิกฟื้นกลับมาดังเดิมที่ 52%
“การใช้พรีเซ็นเตอร์ดังจากซีรี่ส์วาย ไม่ใช่เพื่อกอบกู้ส่วนแบ่งทางการตลาดที่หายไปหวือหวาแค่ช่วงเดียว แต่เราต้องเกาะเทรนด์ตลาดที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอด” ที่สำคัญยังเป็นการปลุกตลาดปลายปีด้วย เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการขายบะหมี่ฯ
เวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 9 เดือน ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหมื่นล้านบาท มีการเติบโต 1.8% และทั้งปีคาดว่าจะโตกว่า 2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ดีเมื่อเทียบกับตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวม 9 เดือน ติดลบ 6.6% และทั้งปีคาดว่าติดลบ 5-6%
ทั้งนี้ เมื่อแบ่งหมวดสินค้า บะหมี่ฯแบบซองเติบโต 6% ส่วนแบบถ้วย(คัพ)ติดลบราว 2 หลัก เนื่องจากแบบคัพตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านความสะดวกสบาย เดินทางท่องเที่ยว แวะสถานีบริการน้ำมัน ใช้ชีวิตท่องราตรีแล้วซื้อรับประทาน
“ตลาดบะหมี่ฯปีนี้ไม่มีทางโตเท่าปีที่แล้ว ซึ่งภาพรวมตลาดเติบโตประมาณ 7% ส่วน 9 เดือนของปีนี้เทียบปีก่อน เติบโตเพียง1.8% ดังนั้นที่บอกว่ามาม่าเป็นดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ มาม่าโตเศรษฐกิจแย่ ไม่จริง ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี มาม่าก็โตน้อย พอเศรษฐกิจดีมาม่าจะโตสูง”
อย่างไรก็ตาม บะหมี่ฯ เป็นหนึ่งในสินค้าอุปโภคบริโภค และตลาดเริ่มฟื้นตัวกลับมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอิสาน กำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนกรุงเทพฯ และภาคใต้ ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากเศรษฐกิจท้องถิ่นต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา แม้จะเริ่มเปิดรับนักเดินทางจากต่างชาติให้เที่ยวไทยได้ภายใต้เงื่อนไขกักตัว 14 วัน เวลานี้แบรนด์จึงต้องให้น้ำหนักเจาะกลุ่มเป้าหมายคนไทย แม้อำนาจซื้อจะไม่อู้ฟู่ดังเดิมก็ตาม