บอยคอตสินค้าฝรั่งเศสปมขัดแย้ง'มาครง-โลกมุสลิม'

บอยคอตสินค้าฝรั่งเศสปมขัดแย้ง'มาครง-โลกมุสลิม'

บอยคอตสินค้าฝรั่งเศสปมขัดแย้ง'มาครง-โลกมุสลิม' ขณะพรรคฝ่ายค้านของจอร์แดนเรียกร้องให้มาครงขอโทษอย่างเป็นทางการ

เหตุฆาตกรรมโหด“ซามูเอล พาตี” ครูสอนวิชาสังคมศึกษาชาวฝรั่งเศส ด้วยการฆ่าตัดคอ หลังจากที่เขาพูดถึงประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ด้วยการยกตัวอย่างรูปการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด ที่เคยลงในหนังสือพิมพ์ชาร์ลี เฮบโด กำลังสร้างปมขัดแย้งระหว่างประเทศ เมื่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แสดงความเสียใจ และสนับสนุนหลักการสอนของครูพาตี พร้อมทั้งกล่าวว่า จะเข้าไปคุมเข้มชุมชนชาวมุสลิมทั่วประเทศฝรั่งเศส และจะผลักดันกฏหมายเพื่อป้องกันการเกิดคดีสะเทือนขวัญแบบนี้ รวมทั้งจะต่อสู้กับชาวมุสลิมแบ่งแยกดินแดน ที่สร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้

ด้านประธานาธิบดีเตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี ไม่พอใจมากกล่าวโจมตีประธานาธิบดีมาครงว่า ควรเข้ารับการบำบัดทางจิตเกี่ยวกับทัศนคติที่มีต่อชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม

“ชายที่ชื่อมาครงมีปัญหาอะไรกับชาวมุสลิม มาครงต้องเข้ารับการบำบัดทางจิต จะพูดอะไรได้อีกกับประมุขของประเทศที่ไม่เข้าใจเสรีภาพในความเชื่อและแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ต่อประชาชนหลายล้านในประเทศของเขาที่มีคนหลากหลายความเชื่อ” เออร์ดวนกล่าวในการปราศรัยที่สภาท้องถิ่นของพรรคเอเคในเมืองไกเซรี ประเทศตุรกี

เออร์ดวน เป็นมุสลิมที่เคร่งครัดและนับตั้งแต่พรรคเอเคสายอิสลามของเขาขึ้นมามีอำนาจครั้งแรกในปี 2545 เออร์ดวนก็พยายามเปลี่ยนศาสนาอิสลามให้กลายเป็นทางสายหลักของการเมืองในตุรกี ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็ยังมีนิกายย่อยอื่นๆ

ที่จริงแล้ว ตุรกีและฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต)ไม่ได้มีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ไม่ลงรอยกันในหลายเรื่อง รวมถึง นโยบายในซีเรียและลิเบีย ขอบเขตอำนาจทางทะเลในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและความขัดแย้งในนากอร์โน-คาราบัค

ปมการแสดงความคิดเห็นของมาครงต่อประเด็นครูชาวฝรั่งเศสถูกฆ่าตัดคอบานปลายเข้าไปในแวดวงธุรกิจ ล่าสุด บริษัทอาหารอาหรับหลายแห่งเก็บผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทฝรั่งเศสออกจากชั้นวางสินค้าภายในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อตอบโต้คำพูดของมาครงเกี่ยวกับชาวมุสลิม หลังจากออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ คว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของฝรั่งเศส พร้อมทั้งติดแฮชแท็กเป็นภาษาอังกฤษว่า #BoycottFrenchProducts และเป็นภาษาอาหรับว่า #ExceptGodsMessenger ในกลุ่มประเทศอาหรับรวมถึง คูเวต กาตาร์ ปาเลสไตน์ อียิปต์ อัลจีเรีย จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย และตุรกี

กระทรวงต่างประเทศของจอร์แดน ออกแถลงการณ์ว่า การเผยแพร่เนื้อหาที่มีวัตถุประสงค์ล้อเลียนทางศาสนา โดยอ้างเรื่องของเสรีภาพเป็นการเลือกปฏิบัติและมีเจตนาชี้นำในทางที่ผิด ด้วยการเชื่อมโยงความเชื่อทางศาสนากับการก่อการร้าย ด้านพรรคฝ่ายค้านของจอร์แดนเรียกร้องให้มาครงขอโทษอย่างเป็นทางการ

ในคูเวต ประธานและสมาชิกบอร์ดบริหารของสังคมสหกรณ์อัล-นาอีม ประกาศคว่ำบาตรสินค้าของฝรั่งเศสทั้งหมดและเอาสินค้าเหล่านี้ออกจากชั้นจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่ง ส่วนในกาตาร์ บริษัทผลิตนมวิจบาห์ ประกาศคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์นมจากฝรั่งเศสและหันไปสั่งซื้อผลิตภัณฑ์นมจากประเทศอื่นแทน

มหาวิทยาลัยกาตาร์ ก็ร่วมวงคว่ำบาตรฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ด้วยการยกเลิกจัดอีเวนท์“สัปดาห์วัฒนธรรมฝรั่งเศส” อย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจงใจละเมิดศาสนาอิสลามและสัญลักษณ์ของชาวมุสลิม

ในแถลงการณ์บนทวิตเตอร์ของมหาวิทยาลัยกาตาร์ระบุว่า การมีอคติต่อความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์และสัญลักษณ์ของอิสลามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้และการละเมิดเหล่านี้เป็นภัยต่อค่านิยมของมนุษย์โลกตลอดจนหลักธรรมสูงสุดที่สังคมต่างๆให้การยอมรับ

ขณะที่สภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย(จีซีซี)บอกว่าคำพูดของมาครงเป็นคำพูดที่แสดงถึงความไม่รับผิดชอบและบอกว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อแพร่กระจายวัฒนธรรมความเกลียดชังในหมู่ประชาชน

ส่วนกระทรวงต่างประเทศของคูเวต ออกแถลงการณ์เตือนว่านโยบายเลือกปฏิบัติและส่งเสริมให้มีการละเมิดศาสนาอิสลามในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการโยงชาวอิสลามเข้ากับลัทธิก่อการร้ายสะท้อนถึงการบิดเบือนความเป็นจริง ดูถูกการสอนของอิสลามและทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลกเกิดความไม่พอใจ