ยึด "3 อย่า" ป้องกันภัยช่วงลอยกระทง

ยึด "3 อย่า" ป้องกันภัยช่วงลอยกระทง

กรมควบคุมโรค ห่วงเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตในช่วงวันลอยกระทง แนะผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงหรือปล่อยเด็กเล็กอยู่ตามลำพัง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำได้ ขอให้ยึดหลัก 3 อย่า คือ อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม ป้องกันการจมน้ำ

วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงวันลอยกระทง ในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณี มักมีการลอยกระทงตามแหล่งน้ำ เพื่อขอขมาพระแม่คงคา อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกลื่นจมน้ำทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ซึ่งเหตุการณ์ที่มักพบเห็นบ่อยๆ คือ การลงไปเก็บเศษเงินในกระทง จากข้อมูลกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ที่ได้วิเคราะห์ข้อมูลมรณบัตรของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ช่วงเทศกาลลอยกระทง ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2553-2562)

พบว่า 3 วัน คือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง มีคนจมน้ำเสียชีวิต 349 ราย เป็นเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) 78 ราย (ร้อยละ 22.3) ซึ่งในวันลอยกระทงวันเดียวพบว่า มีคนจมน้ำเสียชีวิตถึง 121 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 33 ราย (ร้อยละ 27.3) เฉลี่ยวันละ 3.3 ราย ซึ่งมากกว่าในช่วงวันปกติ 2 เท่า โดยพบมากในกลุ่มอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 48.7) รองลงมาคือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี (ร้อยละ 32.1) และพบในเด็กชายมากกว่าหญิงเกือบ 2 เท่า

160385971038

ส่วนปีที่ผ่านมา (ปี 2562) เมื่อเปรียบเทียบการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงวันลอยกระทงเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มการเสียชีวิตของเด็กลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง สำหรับในช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน คือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง มีคนจมน้ำเสียชีวิต 36 ราย โดยเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ (34 ราย) ซึ่งในวันลอยกระทงวันเดียวนั้น มีคนจมน้ำเสียชีวิต 11 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 1 ราย ซึ่งแม้ว่าแนวโน้มการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กจะลดลง แต่ผู้ปกครองไม่ควรชะล่าใจปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเอง


ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการจมน้ำ กรมควบคุมโรค จึงขอให้ยึดหลัก 3 อย่า คือ 1.อย่าใกล้: อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ 2.อย่าเก็บ: อย่าลงน้ำไปเก็บกระทงหรือเงินในกระทง 3.อย่าก้ม: อย่าก้มไปลอยกระทง โดยผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงตัวได้โดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ และไม่ควรให้เด็กลงเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงเด็ดขาด เพราะเด็กอาจเสี่ยงจมน้ำและเสียชีวิตได้ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก


นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับหน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ลอยกระทง ควรมีมาตรการ ดังนี้ 1.กำหนดพื้นที่สำหรับลอยกระทงให้ชัดเจน โดยจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ และต้องทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันเด็กตกลงไปในน้ำ และควรมีผู้ดูแล 2.ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะๆ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้ 3.ติดป้ายคำเตือนไว้บริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือห้ามลงไปลอยกระทง 4.ผู้จัดการพาหนะสำหรับการเดินทางทางน้ำต้องเตรียมชูชีพสำหรับผู้โดยสาร และต้องคำนึงถึงจำนวนผู้โดยสารด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422