อียูทำโครงการ‘บริหารป่าไม้อาเซียน’

อียูทำโครงการ‘บริหารป่าไม้อาเซียน’

อียูเปิดตัวโครงการบริหารจัดการป่าไม้โครงการใหม่ ในช่วงสัปดาห์การทูตสภาพภูมิอากาศ 2563 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา

เนื่องในโอกาสสัปดาห์การทูตสภาพภูมิอากาศ 2563 (Climate Diplomacy 2020) และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม  สหภาพยุโรปเปิดตัวโครงการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าในอาเซียน (Forest Law Enforcement, Governance and Trade in ASEAN) มูลค่า 5 ล้านยูโร (ประมาณ 185 ล้านบาท) ในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยประเทศสมาชิกอาเซียนลดปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมาย โดยจะส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืนและถูกกฎหมาย และปรับปรุงธรรมาภิบาลและส่งเสริมการค้าไม้ที่ผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สถาบันป่าไม้ยุโรป (European Forest Institute) จะเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยโครงการจะสนับสนุนและส่งเสริมโครงการต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในอาเซียน อาทิ แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนด้านป่าไม้ปี 2559-2568 (Strategic Plan of Action for ASEAN Co-operation on Forestry) ที่เริ่มใช้ในปี 2559 และแผนงานด้านการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้และธรรมาภิบาลในอาเซียน (Forest Law Enforcement and Governance in ASEAN) แผนงานนี้ถือเป็นรากฐานสำหรับการกระชับความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ช่วยแก้ไขปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมายและการตัดไม้ทำลายป่า โดยอาศัยแนวทางที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าของสหภาพยุโรป (Forest Law Enforcement, Governance and Trade [FLEGT] Action Plan)

“สหภาพยุโรปภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับอาเซียนในการส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้ในภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงยุโรปสีเขียว (EU Green Deal) การส่งออกไม้อย่างถูกกฎหมายยังช่วยส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม การบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะยังประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ฯพณฯ อีกอร์ ดรีมันส์ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอาเซียน กล่าว

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ป่าเขตร้อนคิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่ป่าเขตร้อนในโลก และมีแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญอย่างน้อย 4 แห่งจาก 25 แห่งทั่วโลก ป่าไม้เป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และการผลิตวัสดุสำหรับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีอยู่ราว 650 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่าขนานใหญ่ของโลก และติดอันดับภูมิภาคที่มีการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรงในระดับต้นๆ โดยในระหว่างปี 2548 และ 2558 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียพื้นที่ป่าไปประมาณ 80 ล้านเฮกตาร์ การตัดไม้ทำลายป่าในระดับนี้อาจส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคนี้ลดลงกว่าร้อยละ 40 ภายในปี 2643

แผนปฏิบัติการ EU-FLEGT เป็นมาตรการรับมือปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมายและการลักลอบค้าไม้ของสหภาพยุโรป การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนี้ได้สร้างแรงผลักดันเชิงบวก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ประเทศเข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับ FLEGT

วัตถุประสงค์หลักของแผนปฏิบัติการคือการเสริมสร้างและสาธิตธรรมาภิบาลป่าไม้ การเฝ้าระวัง และการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีเป้าหมายที่เกี่ยวเนื่องกัน 3 ประการ ได้แก่

- ส่งเสริมความยั่งยืนและการปฎิบัติตามกฎหมายของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ในประเทศที่เป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจของ FLEGT ได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ สปป. ลาว มาเลเซีย และไทย

- เสริมสร้างการเจรจาระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการใช้แผนปฏิบัติการ EU-FLEGT

- เสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านภูมิประเทศที่ยั่งยืนและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด

ความเป็นมา

การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade) เกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่าป่าเขตร้อนมีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมของโลก แม้ว่าพื้นที่ป่าเขตร้อนคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ของพื้นผิวโลก แต่ก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์จำนวน 2 ใน 3 ของโลก และยังกักเก็บคาร์บอนส่วนเกินไว้ในผืนดินถึงร้อยละ 68 ของปริมาณทั่วโลก ประชากรกว่าพันล้านคนได้รับประโยชน์จากป่าเขตร้อนทั้งทางตรงและทางอ้อมในรูปแบบของการจ้างงาน ผลิตภัณฑ์จากไม้ สิ่งเกื้อหนุนในการดำรงชีวิต และรายได้ ซึ่งหากมีการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ป่าเขตร้อนจะมีส่วนช่วยในการรักษาความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และการมีส่วนร่วมทางสังคมของคนยากไร้

สหภาพยุโรปและอาเซียนเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการในปี 2520 และได้กระชับความสัมพันธ์กันเรื่อยมาเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ของโลก และเพื่อร่วมกันเสริมสร้างระเบียบสากลและความเป็นพหุภาคีที่ยึดมั่นในกฎกติกา สหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนอันดับหนึ่งของอาเซียนด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา โดยได้ให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่ากว่า 250 ล้านยูโร (9.2 พันล้านบาท) ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา และมุ่งเสริมสร้างการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคและสนับสนุนการทำงานของสํานักงานเลขาธิการอาเซียน นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นจำนวนเงินราว 2 พันล้านยูโร (74,000 ล้านบาท)