กยท.สกัดกลุ่มทุบราคายาง เตรียมถกผู้ส่งออกรับมือ

กยท.สกัดกลุ่มทุบราคายาง  เตรียมถกผู้ส่งออกรับมือ

ราคายางที่ไต่ระดับขึ้นอย่างไม่หยุดในขณะนี้ แม้จะเป็นผลดีกับเกษตรกรที่มีรายได้มากขึ้นจนเกินระดับราคาประกันรายได้ไปแล้ว แต่อาจไม่ใช่ผลดีต่อส่วนอื่นในห่วงโซ่ธุรกิจยางพารา

ราคายางที่ไต่ระดับขึ้นอย่างไม่หยุดในขณะนี้ แม้จะเป็นผลดีกับเกษตรกรที่มีรายได้มากขึ้นจนเกินระดับราคาประกันรายได้ไปแล้ว แต่ในห่วงโซ่ยางพารา ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ที่อาจไม่ยินดีกับสถานการณ์แบบนี้ จึงอาจจะกระทบกับความฝันที่จะดันราคายางจะแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวว่า ราคายางที่ปรับขึ้นในขณะนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ชัดเจนที่สุดคือ ผลผลิตยางของทุกประเทศผู้ผลิตออกสู่ตลาดน้อย โดยเวียดนาม พื้นที่ปลูกยางมีน้ำท่วม มาเลเซียและอินโดนีเซียมีปัญหายางใบร่วง ภาคใต้ของไทยมีปัญหาฝนตกชุก ในขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน ประเทศผู้นำเข้ายางที่มากที่สุด

คำสั่งซื้อยางของจีนจากต่างประเทศกลับมาฟื้นตัว การจำหน่ายรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น 63% รถยนต์ขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 เท่าตัว กำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางรถยนต์เพิ่มขึ้น จึงมีแนวโน้มใช้ยางมากขึ้นด้วย เชื่อว่าราคายางยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเป็นที่น่าหวั่นใจว่า ต่อไปผลผลิตยางอาจจะไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากโรคโควิด-19ที่อาจระบาดรอบ2 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางยังมีสูง

เมื่อพิจารณาจากความต้องการโดยรวม และราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า 6-7 เดือน แล้ว คาดว่าราคายางในประเทศยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคายางปรับขึ้นสูงนั้นต้องคอยระวังปัญหาการทุบราคาในลักษณะอันใดอันหนึ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่จากปัจจัยที่เกื้อหนุนต่างๆที่เกิดขึ้นคาดว่าการทุบราคาจะเป็นผลให้ราคายางโดยเฉลี่ยช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะไม่ต่ำกว่า กก.ละ 70 บาท

"หากมีการทุบราคาเกิดขึ้นจริงและทำให้ราคายางลดลงเร็วอย่างน่าสงสัย กทย. ก็มีมาตรการรองรับ เช่น การชะลอยางพาราไม่ให้เข้าสู่ตลาด การรับซื้อยางในตลาดของกยท.เอง การสนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น ให้ได้ตามเป้าหมาย 2 แสนตันต่อปี เป็นต้น"

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเสถียรของราคายาง จำเป็นที่กยท. ต้องเข้าไปดูแลให้ทุกหน่วยงานในห่วงโซ่ยางพารา ที่ประกอบด้วย เกษตรกร ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการ ซึ่งในส่วนของเกษตรกรในขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแล้ว ราคาที่ปรับขึ้นทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอยู่ในจุดเป็นที่น่าพอใจ จากก่อนหน้านี้เกษตรกรอาจเป็นห่วงกรณีราคาที่ได้รับยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิต แต่ปัจจุบันเมื่อมีการประกันรายได้ก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงต้นทุนการผลิต แต่ปัจจุบันการประกันราคา ยังต้องดำเนินการต่อไป เพื่อความสบายใจของเกษตรกร ซึ่งกยท. อยู่ระหว่างปรับแก้รายละเอียดก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป

160388873286

ในขณะที่ผู้ประกอบการได้ส่งสัญญาณมายัง กยท.ว่า สามารถปรับตัวเพื่อใช้วัตถุดิบยางพาราในราคาที่สูงขึ้นได้แล้ว จึงเหลือเพียงกลุ่มผู้ส่งออก ที่กยท.จะหารือในสัปดาห์หน้า ว่าได้รับผลกระทบจากราคายางที่ปรับขึ้นนี้อย่างไรบ้าง

เบื้องต้น กยท.จะขอทบทวนมติครม. เพื่อปรับมาตรการอุดหนุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับผู้ส่งออกยาง วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมจะปล่อยกู้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ 3 % เฉพาะปริมาณส่งออกยางพาราที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ จะเปลี่ยนเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 %เท่ากับผู้ที่สามารถส่งออกได้ในปีนี้ที่มีปัญหาเรื่องโควิด และราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้จะปล่อยกู้ให้ผู้ส่งออกที่ซื้อยางเพื่อเก็บสต็อกในช่วงโควิด ด้วยโดยถือว่ามีส่วนช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งจะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยจะผ่อนปรนเงื่อนไขจากเดิมที่กำหนดการขยายกำลังการผลิตไว้ที่ปีละ 4 หมื่นตัน ลดลงให้เพียง 2 หมื่นตัน

ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 3/2563 ได้รับทราบถึงสถานการณ์ผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตรา 3-6% ต่อปีจากพื้นที่เพาะปลูกใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดหลังจากเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงปี 2547-2555 โดยเฉพาะผลผลิตของจีนที่ปลูกในกลุ่มประเทศ CLMV ในขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราของโลกคาดว่าจะขยายตัว 4-5% ต่อปี ดังนั้นเพื่อให้ราคายางพารามีเสถียรภาพจึงกำหนดมาตรการต่างๆทั้งด้านการบริหารจัดการดีมานด์และซับพลาย รวมถึงออกแบบกลไกตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย