บอร์ดแข่งขันฯยื้อควบ'ซีพี-เทสโก้' ต่อเวลาพิจารณา 15 วัน
คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ต่อเวลา 15 วัน เคาะผลควบรวม “ซีพี-เทสโก้” ด้าน “สกนธ์” อ้างข้อมูลเพียบพิจารณาไม่ทัน นัดอีกรอบ 2 พ.ย.ลุ้นอนุญาตควบรวมแบบมีเงื่อนไข ป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดกับคู่ค้า
การพิจารณาคำขอควบรวมกิจการของบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ครบกำหนด 90 วัน วานนี้ (29 ต.ค.) ซึ่งการซื้อหุ้นดังกล่าวมีผลให้ซีพีได้สิทธิบริหารบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีก Tesco Lotus ในไทย
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ประชุมและมีมติต่อเวลาการพิจารณาไปอีก 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งโครงสร้างตลาด ผู้ถือหุ้น แผนการรวมธุรกิจ และระยะเวลาดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประสงค์รวมธุรกิจและผู้ถูกรวมธุรกิจ
รวมถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค ผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ โดยที่ประชุมเห็นว่ายังไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จจึงขยายเวลาออกไป
“การประชุมครั้งนี้ได้พิจารณาข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาด ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบก่อนลงมติ จึงนัดประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 2 พ.ย.นี้“ นายสนกธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผลการพิจารณาจะเสร็จสิ้นอย่างแน่นอนกลางเดือน พ.ย.นี้ ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ซึ่งไม่ว่าจะอนุญาตให้ไม่อนุญาตย่อมมีผู้ที่พอใจและไม่พอใจ และยอมรับว่ากรณีนี้ถือเป็นกรณีใหญ่และสังคมให้ความสนใจมาก ดังนั้นต้องรอบคอบและพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้นการตัดสินทางใดทางหนึ่งย่อมมีผลต่อราคาหุ้น ซึ่งข้อมูลที่จะเปิดเผยขอให้รอการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก่อน
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า การประชุมในวันที่ 2 พ.ย.นี้ อาจจะมีการลงมติ โดยใช้เสียงข้างมากในการสรุปมติคำขอควบรวมกิจการ ซึ่งการพิจารณามีแนวโน้มที่จะอนุญาตแบบมีเงื่อนไข เพราะการไม่อนุญาตจะเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีเป็นการผูกขาดการค้า แต่ในธุรกิจค้าปลีกทั้งกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์และกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต ถือว่ามีผู้ประกอบการในตลาดหลายรายจึงไม่เข้าข่ายการผูกขาด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการคอนวีเนียนสโตร์ในตลาด เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น , แฟมิลีมาร์ท , ลอว์สัน , เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ส่วนกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตในตลาด เช่น แม็คโคร , เทสโก้ โลตัส , บิ๊กซี , ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต
โดยในกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์พบว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น มีจำนวนสาขาคิดเป็น 70% ของตลาด ซึ่งเข้าเกณฑ์การมีอำนาจเหนือตลาดและการอนุญาตให้ควบรวมกิจการจำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจเหนือตลาดสร้างการค้าที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานแนวทางการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ซึ่งต้องไม่กระทบกับคู่ค้าของธุรกิจในเครือซีพีและเทสโก้ โลตัสเดิม เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดกับคู่ค้า เช่น ซัพพลายเออร์ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และคลังสินค้า ซึ่งมีหลายแนวทาง เช่น
1.ไม่มีเงื่อนไขการบังคับให้ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าต้องส่งสินค้าหรือบริการให้กับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันของเครือซีพี (เซเว่น-อีเลฟเว่น และแม็คโคร) โดยมีเงื่อนไขต้องส่งสินค้าให้เทสโก้ โลตัสด้วย
2.ต้องไม่มีเงื่อนไขการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า เช่น ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) ค่าธรรมเนียมการวางสินค้า รวมทั้งต้องไม่เพิ่มค่าส่วนแบ่งจากยอดขายหรือกำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP)
3.เปิดให้ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าเลือกได้ว่าจะส่งสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันของเครือซีพีหรือส่งให้กับเทสโก้ โลตัส