เซ้นส์ฯ ทุ่มหมื่นล. กุมลิขสิทธิ์บอลไทย ปั้น สปอร์ตคอมเมิร์ซ' ดันรายได้
โจทย์ธุรกิจต้อง "ขายสินค้า" ให้ได้ ยิ่งธุรกิจสื่อ ผู้ผลิตคอนเทนท์ มีรายการน้ำดี แบรนด์ย่อมยอมลงโฆษณา หวังปิดการขาย เซ้นส์ฯ เห็นแนวโน้มคนดูทีวีลด ต้องหาน่านน้ำใหม่ ดึง "ELEVEN SOORTS" ลุยคอนเทนท์กีฬา ปั้นแพลตฟอร์มโอทีที สร้างฐานสู่ "สปอร์ตคอมเมิร์ซ"
ในยุคดิจิทัลทรงพลัง หากผู้ประกอบการวนเวียนอยู่ในธุรกิจดั้งเดิม (Traditional) พื้นที่เดิม โอกาสเติบโตอาจทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะวงการสื่อ(Media) การผลิตรายการที่ตอบโจทย์ผู้ชมเพียงหน้าจอ “ทีวี” เพราะนับวันคนดูลดลงเรื่อยๆ เพราะย้ายแพลตฟอร์มการดูไปอยู่บนออนไลน์ มือถือ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา
“การผลิตรายการเดิม ทั้งวาไรตี้ เพลงฯ เสิร์ฟผู้ชมผ่านทีวี แนวโน้มมีแต่ละลดลงเรื่อยๆ” วราวุธ เจนธนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนท์ชั้นนำของไทยเล่าสถานการณ์ธุรกิจคอนเทนท์โปรวายเดอร์บนจอแก้ว ว่าเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง อดีตการเห็นรายการดังทำเรทติ้งทะลุ 10 มีให้เห็น แต่ปัจจุบันแตะหลัก 4-5 ก็ดีใจแล้ว หากแตะระดับ 8 ถึงขั้นปลื้มปริ่มน้ำตาไหล
เมื่อสถานการณ์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นตัวแปรกดดันเรทติ้งทีวีดิจิทัลลดต่ำลงเรื่อยๆ ผู้ประกอบการจึงต้อง “ปรับโมเดลธุรกิจ”ใหม่ ไม่ใช่แค่เพื่อให้อยู่รอด แต่ต้องหาทางสร้างการเติบโตด้วย ส่วนจะไปทิศทางไหน หนีไม่พ้นการรุกออนไลน์ หรือ Over The Top : OTT แต่ไม่ว่าจะไปแพลตฟอร์มใด “คอนเทนท์” ยังเป็นหัวใจสำคัญหรือ Content is King จึงเห็นการเติมคอนเทนท์แม่เหล็กไม่หยุดยั้ง
เซ้นส์ ฯ เลือกโดดเข้าสู่สังเวียนคอนเทนท์กีฬา ประเดิม “ฟุตบอล” ด้วยการผนึกพันธมิตรระดับโลก และเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มโอทีทีแกร่งคอนเทนท์ด้านกีฬา อย่าง “ELEVEN SPORTS” ที่ก่อตั้งโดย มร.อันเดรีย ราดริซซานี เจ้าของสโมสรฟุตบอล “ลีดส์ ยูไนเต็ด” ร่วมกับ มร.มาร์ค วัตสัน ผู้บริหาร British telecoms และ มร.หลุยส์ วินเซนต์ หัวหน้าผู้บริหารฝ่ายดิจิทัลของฟีฟ่า(FIFA) ถือลิขสิทธิ์กีฬาในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม อิตาลี ญี่ปุ่น โปรตุเกส มาลุยธุรกิจในไทย
ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสอฟุตบอลไทย จากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ระยะเวลา 8 ปี(ฤดูกาล 2564-2571)ด้วยมูลค่าสูงถึง 9,600 ล้านบาท ไม่เท่านั้นยังทุ่มงบเพิ่มในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการถ่ายทอดสด รวมถึงผลิตรายการใหม่ราว 300 ล้านบาทต่อปี ทำให้มีงบลงทุนรวม 12,000 ล้านบาท
เงินก้อนโตที่ลงไปกับฟุตบอลครั้งนี้ เซ้นส์ฯ ได้สิทธิ์ดูแลบริหารลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครอบคลุมทั้งฟุตบอลทีมชาติไทยทุกชุด ทุกรุ่น เช่น โตโยต้า ไทยลีก คัพ, เอ็ม-150 แชมเปี้ยนชิพฯ ผ่านสื่อทั้งฟรีทีวี ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับช่องต่างๆ ส่วนออนไลน์ ซึ่งจะมีทั้งเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มโอทีที ซึ่งต้องเสียค่าบริการ โดยแพ็คเกจการรับชมจะมีทั้งดูครบทุกแมทช์และบางแมทช์
ลงสนามใหญ่เงินลงทุนหมื่นล้าน จะต้องทำให้คอนเทนท์สร้างมูลค่าเพิ่ม ต่อยอดธุรกิจ เซ้นส์ฯ จึงใช้ความเชี่ยวชาญการเป็นผู้ผลิตรายการ สร้างสรรค์รายการเกี่ยวกับฟุตบอล ดึงคนดู เช่น เกมส์โชว์เดอะ ลีก (THE LEAGUE) ดึงแฟนคลับทีมบอลสโมสรต่างๆเข้าร่วม, เตะสู้ฝัน รายการเตะฟุตบอลนำเงินไปปลดหนี้, Kick of All Star ศึกฟาดแข้งของนักฟุตบอลและซุป’ตาร์ และซีรี่ส์วาย The Winner รักชนะใจ เอาใจแฟนคลับหนุ่มสาวสายวาย เป็นต้น โดยรายการใหญ่จะออกอากาศทางทีวี ส่วนรายการขนาดกลางจะป้อนโอทีที
นอกจากนี้ จะอาศัยศักยภาพพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์มโอทีที ตอบโจทย์ผู้ชมชาวไทยโดยเฉพาะ ซึ่งรายการทั้งหมดจะเจาะแฟนบอล 3 ระดับ ทั้งหน้าใหม่ไม่เคยดูบอลไทย แฟนคลับทั่วไป(Mass) และแฟนพันธุ์แท้แบบฮาร์ดคอร์ ที่พิจารณาจากสโมสรต่างๆมีรวมกว่า 10 ล้านคน
“มองแนวโน้มคนจะดูทีวีน้อยลง เราจึงต้องพัฒนาแพลตฟอร์มโอทีทีของเราเอง และหาพื้นที่ใหม่เป็นกีฬา แม้การลงทุนคอนเทนท์กีฬาจะสูง แต่บริษัทต้องมูฟ อยู่ที่เดิมจะหายใจลำบากขึ้นเรื่อยๆ”
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าว เป็นเพียงการ “วางรากฐาน” ให้บริษัทมีกลุ่มผู้ชม ลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะ วราวุธ บอกว่า เป้าหมายสูงสุด ต้องการผลักดันบริษัทให้ก้าวเข้าสู่กีฬาเชิงพาณิชย์ หรือ Sport Commerce
“Ultimate goal ของเราคือการเป็น Sport Commerce การมีคอมมูนิตี้ สุดท้ายจะนำไปสู่การซื้อขายสินค้า” โดยบริษัทจะพัฒนาช่องทางขายออนไลน์เป็น “หน้าร้าน” ให้กับสินค้ากีฬาทั้งที่บริษัทถือลิขสิทธิ์ ตลอดจนสินค้าเกี่ยวเนื่องกับกีฬา เช่น สินค้าหมวดสุขภาพฯ
สำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ 2-3 ปีแรกเป็นช่วงลงทุน การทำรายได้จะมาจากค่าสมาชิก 60-70 โฆษณา 30% เมื่ออีโคซิสเทมครบเครื่องเชื่อว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเป็นบวกแตะระดับ 800-1,000 ล้านบาท และรายได้จากการขายสินค้าจะสูงขึ้น ด้านรายได้ปี 2563 ลดลงราว 20% เนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้เงินโฆษณาหดตัว แม้เรทติ้งรายการจะเพิ่ม ส่วนปีก่อนมีรายได้ 400 ล้านบาท