ลุ้นโครงการใหญ่เข้า 'บอร์ดPPP' ปีนี้ 2 โครงการ 1.5 แสนล้าน
ลุ้นบอร์ด PPP เคาะอีก 2 โครงการใหญ่ในปีนี้วงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้าน ทั้งศูนย์การแพทย์ครบวงจร และรถไฟฟ้าสีม่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ แย้มใช้PPP ฟาสต์แทรกซ์ได้ บอร์ดเคาะวันนี้ร่วมลงทุนรัฐเกือบ 1.9 หมื่นล้าน 2 โครงการต่อสัมปทานท่าเรือ-ศูนย์ขนถ่ายสินค้า
นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่าในปี 2563 ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่รอเข้าพิจารณาของคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (บอร์ด PPP) 2 โครงการได้แก่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ มูลค่าการลงทุน 1.42 แสนล้านบาท และโครงการศูนย์การพทย์ครบวงจรของกระทรวงสาธารณสุขมูลค่าการลงทุนประมาณ 8.2 พันล้านบาท
โดยทั้งสองโครงการหน่วยงานเจ้าของโครงการอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดก่อนนำเสนอเข้าบอร์ดPPP ส่วนจะต้องมีการทำการใช้แนวทาง PPP fast track หรือไม่ แล้วแต่ที่รัฐบาลจะมีนโยบายการผลักดันเร่งด่วนหรือไม่ หากต้องการให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนคณะกรรมการ PPP ก็พร้อมที่จะใช้แนวทางการทำงานแบบดังกล่าวเพื่อผลักดันให้โครงการมีความรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับการประชุมวันนี้ บอร์ด PPP ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานเเป็นประธานในวันนี้ (30 ต.ค.) ได้อนุมัติโครงการรวมมูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าเงินลงทุนรวม 18,961 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลค่ารวม 16,096 ล้านบาท ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สัมปทาน
โดย กนอ. จะมอบสิทธิแก่เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินเดิมของโครงการและดำเนินโครงการ ทั้งนี้ เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยภาครัฐไม่มีภาระการลงทุนในโครงการ ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 30 ปี เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับโครงการท่าเทียบเรือดังกล่าว ที่ต้องดำเนินการนั้น เนื่องจากบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด (TTT) จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ก.ย. 65 ดังนั้นจะต้องเร่งดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุดลง เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบกมูลค่ารวม 2,865 ล้านบาท โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์สำนักงานและส่วนประกอบ และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมถึง O&M ทั้งหมด ตลอดระยะเวลาโครงการ 15 ปี เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน
รวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากทางถนนไปสู่ทางรถไฟ โดยให้ไปพิจารณาผลตอบแทนของรัฐอย่างรอบคอบในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน รวมถึงการขอรับสิทธิประโยชน์ BOI
ขณะเดียวกัน บอร์ด PPP ยังเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองและแนวทางปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 62 ในเรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาใช้การคัดเลือกเอกชนโดยไม่ใช้วิธีประมูล รวมถึงแนวทางการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุนที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายลำดับรองที่ใช้สำหรับการจัดทำและดำเนินโครงการครบถ้วน
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ส่วนโครงการรถไฟสายต่างๆ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการต่างๆจะรอเข้าสู่การพิจารณาต่อไป