3 แบบ 3 สไตล์ 'แต่ของมันต้องมี'
เทียบชัดประกัน 3 แบบ 3 สไตล์ ระหว่างประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง ต่างกันอย่างไร? ประกันแต่ละแบบให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันหลายๆ คน ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันชีวิตและประกันสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจทำประกันง่ายกว่าเดิม หากแต่บางท่านก็ยังสับสนระหว่างประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันโรคร้ายแรง บางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงขนาดว่าถ้ามีประกันชีวิตก็เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ หรือมีประกันโรคร้ายแรงก็เบิกค่าตัด ค่าห้อง ค่ายาได้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะทั้ง 3 อย่าง คือแบบประกันภัยคนละแบบ ให้ความคุ้มครองเฉพาะด้าน วันนี้จึงขออธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ
การประกันชีวิตคือ การชำระเบี้ยประกันภัยเพื่อซื้อความคุ้มครองที่ว่าด้วยเรื่องของชีวิตล้วนๆ โดยยึดถือเอาเหตุแห่งการมีชีวิตหรือเสียชีวิตเป็นมูลเหตุในการจ่ายเงินผลประโยชน์ บางแบบประกันจะแฝงการออมทรัพย์เข้าไปด้วย เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ จะให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองกรณีที่มีชีวิตอยู่จนครบสัญญา รับเงินก้อนใหญ่ตามทุนประกันภัยที่ระบุไว้ อาจจะมีเงินผลประโยชน์เพิ่มเติมเหมือนดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นไปเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ได้ระบุ แต่ถ้าโชคร้ายเสียชีวิตก่อนครบกำหนดสัญญา เงินทุนประกันภัยก็จะตกเป็นของทายาท ผู้รับผลประโยชน์หรือที่ภาษาประกันภัยเขาเรียกว่าสินไหมทดแทนนั่นเอง
ส่วนประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ขายพ่วงกับประกันชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาหลัก หมายความว่าเราต้องมีประกันชีวิตก่อนจึงซื้อสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงได้
สำหรับสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพนั้นจะให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย และต้องเป็นโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อนทำประกันภัย โดยจะให้ความคุ้มครองครอบคลุมค่าห้อง ค่าผ่าตัด ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งความคุ้มครองนั้นมีให้เลือกกรณีที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (IPD) และกรณีผู้ป่วยนอก (OPD) ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็มีให้เลือกความคุ้มครองทั้งในแบบเหมาจ่าย กับแยกค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
ส่วนการเคลมหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากค่ารักษาพยาบาล สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็ว เพราะบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่มีระบบการเคลมที่โรงพยาบาลจะติดต่อเรื่องภาระค่าใช้จ่ายกับบริษัทรับประกันภัยเอง คนไข้ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเพียงส่วนเกินของวงเงินความคุ้มครอง ส่วนกรณีที่สำรองจ่ายไปก่อน ก็เพียงนำใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล เอกสารใบรับรองแพทย์มายื่นกับบริษัทเพื่อรับเงินค่าสินไหมทดแทน
ส่วนสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงนั้น จะให้ความคุ้มครองกรณีที่ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต ฯลฯ โดยกำหนดวงเงินความคุ้มครองเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคดังกล่าวก็จะจ่ายทุนประกันภัย เต็มจำนวน หรือตามสัดส่วนที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยเก็บไว้ใช้จ่ายในส่วนที่นอกเหนือจากความคุ้มครองของการประกันสุขภาพ
จะเห็นได้ว่าประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรงนั้นให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน 3 แบบ 3 สไตล์ โดยประกันชีวิตช่วยสร้างความมั่นคงด้วยการออมเงินอย่างมีวินัย จะได้มีเงินใช้ในอนาคต เป็นความอุ่นใจ และไม่ทิ้งภาระให้คนข้างหลังยามเมื่อจากไป
ส่วนประกันสุขภาพ ช่วยลดความกังวลหากเจ็บป่วย เพราะมีกองทุนสำหรับการรักษาพยาบาล ทำให้กล้าไปพบแพทย์ ตรวจรักษากันแต่เนิ่นๆ ไม่ทิ้งไว้นานจนสายเกินแก้ สำหรับประกันโรคร้ายแรงก็เป็นส่วนช่วยเติมเต็มให้สามารถก้าวผ่านจุดวิกฤติจากโรคร้ายให้ดีกว่าเดิม เพราะการป่วยเป็นโรคร้ายจะใช้เงินและเวลามหาศาล
แม้แบบประกันภัยทั้ง 3 จะแตกต่างกัน แต่มีอารมณ์ร่วมเดียวกันคือของมันต้องมี เพราะเป็นความจำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยงทางการเงินโดยมีชีวิตและสุขภาพเป็นเดิมพัน หากเราไม่วางแผนตั้งแต่วันนี้ ไม่แน่ว่าพอเกิดเหตุเงินเก็บทั้งหมดที่สะสมมาทั้งชีวิตอาจหมดไปกับค่ารักษาพยาบาลที่แสนแพง หากวันนี้ยังมีรายได้น้อย ก็เริ่มทำที่ทุนประกันภัยน้อยๆ ก่อน พอมีเงินเพิ่มแล้วจึงค่อยปรับเพิ่ม การเลือกความคุ้มครองจะมาก น้อย เหมาจ่ายหรือแยกค่ารักษาพยาบาลใดๆ ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับความต้องการ และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นสำคัญอย่ารอให้ถึงเวลาเจ็บป่วย หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันแล้วมีคนถามว่า “มีประกันหรือเปล่า”