“แอสเสทเวิรด์”ปรับโฉมพอร์ตห้าง ฉีกคอนเซ็ปต์ฝ่าโลกการค้าเปลี่ยน!
ภาพจำของ “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2527 มีอายุกว่า 36 ปี คือห้างไอทีระดับตำนาน!
แต่เมื่อโลกธุรกิจเปลี่ยน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน สามารถเข้าถึงช่องทางการซื้อสินค้าไอทีได้ง่ายและหลากหลายทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ผู้เป็นเจ้าของอย่างบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จึงต้องพลิกแผนครั้งใหญ่
ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งการตลาด หรือ “Repositioning” ล้างภาพพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ จากตึกคอมฯให้หมดจด สู่ศูนย์กลางการค้าส่งใจกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้ชื่อโครงการ “AEC TRADE CENTER - PANTIP WHOLESALE DESTINATION” สอดรับกับอิมเมจของย่านประตูน้ำที่มีชื่อเสียงในฐานะจุดหมายปลายทาง (Destination) ด้านค้าปลีกและค้าส่งใจกลางกรุง ดึงดูดเม็ดเงินจากทั้งชาวไทยและต่างชาติ
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เล่าว่า ที่มาของการเปลี่ยนตำแหน่งการตลาดของพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ สู่ “AEC TRADE CENTER - PANTIP WHOLESALE DESTINATION” เกิดจากแนวคิดของ AWC ที่ต้องการพัฒนาศูนย์ค้าส่งครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย) และเชื่อมโยงไปยังประเทศจีน ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติของอาเซียนแบบครบวงจร
“เรานำแนวคิดนี้มาพัฒนาที่พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ให้เป็นโครงการระดับเรือธง (Flagship) ของเออีซี เทรด เซ็นเตอร์ ในฐานะศูนย์กลางการค้าส่งแบบวันสต็อปใจกลางกรุงเทพฯ เป็นแห่งแรกของไทย มีพื้นที่รวมกว่า 30,000 ตร.ม. เดิมมีกำหนดเปิดปี 2564 แต่ได้ขยับฤกษ์เปิดเร็วขึ้นเป็นวันที่ 26 พ.ย.นี้ เพราะต้องการให้ภาคธุรกิจเดินได้โดยไม่ต้องรอเวลา พร้อมจัดโปรโมชั่นแก่ผู้ค้า ไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่เป็นเวลา 6 เดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงวิกฤติโควิด”
และเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา AWC ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกทั้งในและต่างประเทศกว่า 1 แสนราย ร่วมด้วยสมาคมการค้า 11 หน่วยงาน เพื่อคัดของดีจากผู้ผลิตต้นน้ำที่มีคุณภาพในหลากหลายหมวดสินค้า เน้นกลุ่มไลฟ์สไตล์
อนันต์ ลาภสุขสถิต หัวหน้าคณะกลุ่มโฮลเซลล์ของ AWC เล่าเสริมว่า บริษัทฯได้ใช้งบฯลงทุน 200 ล้านบาทสำหรับเปลี่ยนโฉมโครงสร้างพื้นฐานของอาคารและอุปกรณ์ตกแต่ง เพราะอยากเห็นบรรยากาศผู้ค้าในพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำขณะเสนอขายสินค้า เทียบชั้นการออกบูธตามงานแสดงสินค้าชั้นนำ และยังมีศูนย์ SMEs Service Solution (SSS) ซึ่งจะมีสตูดิโอถ่ายภาพเพื่อให้ผู้ค้าสามารถใช้บริการถ่ายทอดสดออนไลน์ ห้องประชุม และสัมมนาขนาดย่อย รวมถึงพื้นที่ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ
นอกจากนี้โครงการยังได้รับความร่วมมือจาก Yiwu หรือ Zhejiang China Commodities City Group Co., Ltd. (CCC Group) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อู (Yiwu) ประเทศจีน มาเปิดศูนย์นำเข้าและส่งออกที่โครงการ โดยจะมีศูนย์แสดงสินค้าคุณภาพคัดสรร “Yiwu Selection Thailand Showcase” เพื่อให้โครงการเป็นศูนย์ค้าส่งระดับภูมิภาค ให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศได้มาเลือกสินค้าที่ไทย และยังเป็นช่องทางช่วยผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนผ่านเครือข่าย IC Mall ของอี้อู
ด้านกลยุทธ์ส่งเสริมช่องทางออนไลน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์ม “Phenixbox” เพื่อสนับสนุนผู้เช่าโครงการให้สามารถดำเนินธุรกิจแบบออนไลน์ครอบคลุมทั่วโลกได้ในรูปแบบ O2O เชื่อมต่อออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน มีฟีเจอร์การใช้งานตอบโจทย์รอบด้าน น่าจะพัฒนาแล้วเสร็จเดือน ม.ค.2564
“คาดว่าในช่วงแรกที่เปิดให้บริการโครงการ จะมีผู้เช่าจำนวน 300 ราย จากเป้าหมาย 500 ราย ร้านค้ามีรายได้สะพัด 1,000 ล้านบาทต่อเดือนตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ เพราะยังได้รับผลกระทบจากโควิด แต่ทันทีที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีชาวต่างชาติเดินทางมาติดต่อซื้อขายได้ คาดว่าเม็ดเงินน่าจะสะพัดเพิ่มเป็น 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน”
นอกจากโครงการที่พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำแล้ว ได้ต่อยอดโมเดลนี้ไปยังศูนย์ค้าส่งอีกแห่งที่ย่านประตูน้ำ พระอินทร์ ใช้ชื่อ AEC TRADE CENTER แทนชื่อเดิม “ตลาดต่อยอด” ซึ่งมีพื้นที่กว่า 3 แสน ตร.ม. คาดเปิดในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 ขณะที่พื้นที่เป้าหมายใหม่คือด่านการค้าชายแดนสำคัญ เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากชาวเมียนมานิยมบริโภคสื่อไทย เช่น ละคร เกิดพฤติกรรมใช้สินค้าไทยตามมา
วัลลภา เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากการเปลี่ยนโฉมพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำสู่การเป็นฮับค้าส่งแห่งใหม่แล้ว ยังเตรียม Repositioning อีก 3 ห้างในเครือ AWC ได้แก่ พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ซึ่งโดดเด่นเรื่องตลาดเช่าพระเครื่อง จึงเล็งปรับคอนเซ็ปต์สู่ศูนย์การค้าที่มีความเป็นไทย ให้น้ำหนักกับร้านค้าที่มีการนำของเก่ากับของโบราณมาขาย ผู้ซื้อรู้สึกเหมือนได้ตามล่าสมบัติ และได้ย้อนเวลาไปยัง “เสน่ห์วันวาน” มากขึ้น คาดแล้วเสร็จปี 2565 เพื่อฉีกจุดขายจากคู่แข่งอย่างเดอะมอลล์ งามวงศ์วานที่เพิ่งรีโนเวตแล้วเสร็จ
ส่วนพันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่ เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งยังไม่มีศูนย์อาหารขนาดใหญ่ให้บริการ จึงเตรียมปรับเป็น “F&B Destination” เน้นความเป็นล้านนา ขณะที่ตะวันนา บางกะปิ จะปรับคอนเซ็ปต์เป็น “สตรีทฟู้ด” มีอาหารหลากหลาย ชูโรงด้วยแม่เหล็กใหม่อย่างโซนร้านอาหารเครือข่าย “ครัวคุณต๋อย” ของไตรภพ ลิมปพัทธ์ พิธีกรแถวหน้าของเมืองไทย กว่า 100 ร้าน พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการส่งอาหารแบบ Online Delivery ด้วย