'กรุงเทพโพลล์' ชี้ประชาชน 72.5% กังวล 'เศรษฐกิจและเกษตรกรรมย่ำแย่' หลังน้ำท่วม
"กรุงเทพโพลล์" โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความเห็นประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ "น้ำท่วม" พบประชาชนส่วนใหญ่ 72.5% มีความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจและเกษตรกรรมในพื้นที่ประสบภัยจะย่ำแย่
"กรุงเทพโพลล์" โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ท่วม...ทุกข์...คนไทย” หลังเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,184 คน การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวง มหาดไทยพบว่า
จากสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในประเทศไทยประชาชนส่วนใหญ่ 72.5% มีความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจและเกษตรกรรมในพื้นที่ประสบภัยจะย่ำแย่ โดย 70.9% เห็นการเตรียมการรับมือน้ำท่วมในครั้งนี้ผ่านการแจ้งเตือนคนในพื้นที่เสี่ยงจาก กรมอุตุฯ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ทั้งนี้ 53.3% เห็นการให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากทุกภาคส่วนด้วยการแจกถุงยังชีพ และเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ส่วน 61.6% ระบุว่ามีส่วนร่วมต่อการรณรงค์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ต่อสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยการส่งกำลังใจและความห่วงใยผ่านทางความรู้สึก
โดยการสำรวจในครั้งนี้จัดทำเมื่อวันที่ 26-28 ต.ค. 63 และมีคำถาม พร้อมรายละเอียดจากผู้ตอบแบบสอบถาม ดังนี้
1. เรื่องที่วิตกกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดของประเทศ (เลือกตอบได้มากกว่า1ข้อ)
72.5% เศรษฐกิจ และ เกษตรกรรม ในพื้นที่ย่ำแย่
48.8% ภาวะติดเชื้อจากโรคระบาด เชื้อโรคที่มากับน้ำ และสัตว์มีพิษ
48.6% ประชาชน/ครัวเรือน ยกของ ขนของไม่ทัน
43.3% พายุฝนที่มาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สถานการณ์ หนักหน่วง น้ำล้นทะลัก
42.2% พื้นที่น้ำท่วม ขยายวงกว้างขึ้น
29.4% อุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วม
28.7% สถานที่สำคัญได้รับความเสียหาย
2. ท่านเห็นการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม จากทุกภาคส่วนอย่างไร (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
70.9% การแจ้งเตือนคนในพื้นที่เสี่ยงจาก กรมอุตุฯ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ฯลฯ
66.5% การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเฝ้าระวัง และเตรียมรับมือ
39.1% การแจ้งเตือนจากผู้นำท้องถิ่นให้เตรียมอาหาร น้ำดื่ม ขนย้ายของ สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร
30.4% การขุดลอกคูคลองไม่ให้ตื้นเขิน เพื่อรองรับการระบายน้ำ
25.7% การนำถุงทรายมากั้น เพื่อป้องกันน้ำท่วม
20.0% กำชับโรงพยาบาลเตรียมความพร้อม ขนย้ายยาและเวชภัณฑ์ ไม่ให้กระทบบริการ
3. ท่านเห็น การให้ความช่วยเหลือ เยียวยาน้ำท่วม จากทุกภาคส่วนอย่างไร (เลือกตอบได้มากกว่า1 ข้อ)
53.3% ความรวดเร็วในการแจกถุงยังชีพ และเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย จากภาคส่วนต่างๆ
49.6% การเร่งระบายน้ำให้ลดโดยเร็ว สามารถเปิดเส้นทางสัญจรได้
46.1% การตั้งจุดรับบริจาคสิ่งของ น้ำ อาหาร แก่ผู้ประสบภัย
43.6% การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ของ นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าฯ และส.ส.ในพื้นที่
30.6% การสกัดน้ำไม่ให้ทะลักไปท่วมพื้นที่อื่น
31.0% เปิดบัญชีรับบริจาคเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม
23.6% การซ่อมแซมบ้านเรือน โรงเรียน ถนนหนทางให้กลับสู่สภาพเดิม
4. ท่านมีส่วนร่วมต่อการรณรงค์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ต่อสถานการณ์ น้ำท่วมอย่างไร (เลือกตอบได้มากกว่า1 ข้อ)
61.6% ส่งกำลังใจและความห่วงใยผ่านความรู้สึก
34.5% บริจาคเงิน อาหาร เรือ สิ่งของเครื่องใช้ ผ่านช่องทางต่างๆ
19.5% ส่ง SMS โพสต์ แชร์ ส่งข่าว เหตุการณ์น้ำท่วมในโลกโซเชียล
5.9% เดินทางไปร่วมเป็นอาสาสมัคร บรรเทาภัย
12.6% ไม่มีส่วนร่วมใดๆ