บอร์ดแข่งขันการค้า ปิดดีล 'ซีพี' ควบรวม 'เทสโก้'

บอร์ดแข่งขันการค้า ปิดดีล 'ซีพี' ควบรวม 'เทสโก้'

บอร์ดการแข่งขันทางการค้า ถกนัดสุดท้าย เคาะดีลควบรวมซีพี-เทสโก้ โลตัส เตรียมเปิดผลสรุปวันนี้ พร้อมส่งคำวินิจฉัยให้ซีพี

บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ทำการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีก

ภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย

การเข้าซื้อดังกล่าวซีพีดำเนินการผ่านบริษัท ซี.พี.รีเทลโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทแห่งนี้แบ่งการถือหุ้นจากบริษัทในเครือเป็น 3 ราย คือ

1.บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40%

2.บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 40%

3.บริษัทซีพี เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 20%

รวมทั้งการเข้าซื้อครั้งนี้กลุ่มซีพีดำเนินการไปพร้อมกับการซื้อหุ้นบริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในประเทศมาเลเซีย รวมแล้วการซื้อหุ้น Tesco ในไทยและมาเลเซียมีมูลค่า 338,445 ล้านบาท 

ในขณะที่การซื้อหุ้นในไทยต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งมีการประชุมวานนี้ (2 พ.ย.) ใช้เวลา 8 ชั่วโมง เพื่อสรุปมติการพิจารณาหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการแข่งขันการค้าไม่มีมิตเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่มีมติขยายเวลาการพิจารณาอีก 15 วันไปถึงกลางเดือน พ.ย.นี้

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า การประชุมวานนี้ (2 พ.ย.) ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วตามที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กำหนดได้ ซึ่งผลการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้นไม่สามารถบอกผลการพิจารณาได้ เนื่องที่มติที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นผู้แจ้งผลการประชุม ซึ่งในวันนี้ (3 พ.ย.) จะมีการแจ้งผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการ

สำหรับการพิจารณาควบรวมกิจการครั้งนี้ ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของสินค้าหรือบริการตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจะควบรวมธุรกิจต้องยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจ 

ทั้งนี้ เพราะการรวมธุรกิจอาจก่อให้เกิดการผูกขาด หรือ การทำให้ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาด ซึ่งมีอำนาจกำหนดราคาและปริมาณสินค้าหรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ รวมทั้งอาจทำให้ผู้ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า เมื่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีมติเกี่ยวกับการควบรวมกิจการแล้วจะต้องส่งมติให้ผู้ยื่นขอควบรวมกิจการพร้อมกับคำวินิจฉัย ซึ่งจะระบุรายละเอียดและเหตุผลในการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยเริ่มจากการเหตุผลที่จะต้องมีการพิจารณาควบรวมกิจการ ซึ่งกรณีนี้แบ่งการพิจารณาของตลาดค้าปลีกแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (คอนวีเนียนสโตร์) 2.ธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อได้พิจารณาแล้วการควบรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้เข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาด เพราะการควบรวมทำให้มีอำนาจในการบริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่นและร้านโลตัส เอ็กซ์เพรส รวมแล้วมีสัดส่วนประมาณ 80% ของตลาดร้านสะดวกซื้อ

ส่วนประเด็นการผูกขาดได้มีการพิจารณาแล้วโดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าทั้งธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตหากมีการควบรวมกันแล้วยังไม่ทำให้เกิดการขาดขาด เพราะทั้ง 2 ธุรกิจมีผู้ประกอบการหลายราย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น , แฟมิลีมาร์ท , ลอว์สัน , เทสโก้ โลตัสเอ็กซ์เพรส ส่วนกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตในตลาด เช่น แม็คโคร , เทสโก้ โลตัส , บิ๊กซี , ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต

นอกจากนี้ หากการควบรวมกิจการไม่นำมาสู่การมีอำนาจเหนือตลาดจะควบรวมได้เลยเพียงแต่แจ้งให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ารับทราบภายใน 7 วัน แต่การควบรวมครั้งนี้มีผลทำให้เกิดการมีอำนาจเหนือตลาดจึงต้องมีการพิจารณาอนุญาตหรือไม่ โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต้องพิจารณาอนุญาตใน 2 ประเด็น คือ 

1.การอนุญาตให้ควบรวมกิจการแบบไม่มีเงื่อนไข

2.การอนุญาตให้ควบรวมกิจการแบบมีเงื่อนไข

ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาโครงสร้างตลาดได้รายงานที่ประชุมถึงการป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดที่นำไปสู่การค้าที่ไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้กระทบกับคู่ค้าของซีพีและเทสโก้ โลตัส เช่น ซัพพลายเออร์ ผู้ประกอบการคลังสินค้าและโลจิสติกส์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการเสนอไม่ให้ซีพีมีเงื่อนไขในการทำธุรกิจกับคู่ค้า เช่น ต้องไม่มีเงื่อนไขการบังคับให้ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าต้องส่งสินค้าหรือบริการให้กับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันของเครือซีพี (เซเว่น-อีเลฟเว่น และแม็คโคร) โดยมีเงื่อนไขต้องส่งสินค้าให้เทสโก้ โลตัสด้วย

รวมทั้งต้องไม่มีเงื่อนไขการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากซัพพลายเออร์หรือคู่ค้า เช่น ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Fee) ค่าธรรมเนียมการวางสินค้า รวมทั้งต้องไม่เพิ่มค่าส่วนแบ่งจากยอดขายหรือกำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) และต้องเปิดให้ซัพพลายเออร์หรือคู่ค้าเลือกได้ว่าจะส่งสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันของเครือซีพีหรือส่งให้กับเทสโก้ โลตัส