'ย่านนวัตกรรมคลองสาน' ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และพื้นที่สีเขียว
มจธ. ใช้ศักยภาพโครงข่ายคมนาคม ชูจุดแข็ง "ย่านนวัตกรรมคลองสาน” ท่องเที่ยว วัด วัฒนธรรมย่านเมืองเก่า และพื้นที่สีเขียว ผนึกเครือข่าย รับมือ Sea Level Rise และ Storm Surge ประเมินความเสี่ยงน้ำท่วม
การเข้ามาของรถไฟฟ้าหลายสาย ไม่เพียงทำให้ย่านคลองสานกลายเป็นทำเลทองของนักพัฒนาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่ยังช่วยชุบชีวิตให้เมืองเก่าที่แวดล้อมไปด้วยวัด ชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่นี่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการสร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อรองรับความเจริญที่เข้ามาและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับคนในพื้นที่จึงทำให้เกิดพื้นที่นวัตกรรมย่านคลองสานเกิดขึ้น
คลองสาน เป็น 1 ใน 10 “ย่านนวัตกรรม” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบายและการสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ซึ่งพื้นที่คลองสานนี้เป็นพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ รับผิดชอบดูแลเพื่อพัฒนาเมือง สร้างเศรษฐกิจและนวัตกรรมให้เกิดในพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560 มจธ. ได้เข้ามาศึกษา วิจัย สร้างเครือข่ายจนเกิดความเข้มแข็ง และมีการต่อยอดการทำงาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาศักยภาพของคลองสาน ที่จะคงเอกลักษณ์ของความเป็นพื้นที่สีเขียวและธุรกิจเดิมในพื้นที่ และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ยังร่วมกับเครือข่าย ศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
อาจารย์ไมเคิลปริพล ตั้งตรงจิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า สิ่งที่ชุบชีวิตคลองสาน คือ ระบบขนส่งมวลชน ที่สามารถเชื่อมคลองสานไปยังเขตเศรษฐกิจ สาทร สีลม สุขุมวิท ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที และยังเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เขตเมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ เชื่อมจุดสำคัญในฝั่งพระนครเกือบทั้งหมด คลองสานจึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของฝั่งธนบุรี นอกจากนี้การคมนาคมโดยรถไฟฟ้ายังทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่คลองสานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และทั้งหมดสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้ทั้งทางเรือ รถไฟ และการเดินเท้า
จุดเด่นย่านคลองสานคือเป็นเมืองเชื่อมต่อกันหมด เช่น คนฝั่งพระนคร สามารถเดินทางท่องเที่ยวด้วยการลงรถไฟฟ้าที่สถานีอิสรภาพ ก็สามารถเดินเที่ยวชมวัดในย่านเมืองเก่าฝั่งธนบุรี ได้ เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร โบสถ์คริสต์ วัดซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และสามารถเดินท่องเที่ยวต่อไปยัง วัดอนงคารามวรวิหาร, ท่าดินแดง, ล้ง 1919 ,The Jam Factory หรือ คนฝั่งธนบุรี สามารถลงเรือข้ามไปฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ โดยลงที่สถานีสนามไชย เที่ยวชมวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ท่าเตียน ท่าราชวรดิฐ วัดสุทัศน์ หาของอร่อยรับประทานแถวศาลเจ้าพ่อเสือ เป็นต้น
“ไม่มีพื้นที่ไหนที่โดดเด่นเหมือนคลองสานแล้ว สะดวกทั้งการเดินทางทางบกและทางน้ำ มีพื้นที่ที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีวันที่จะเงียบเหงา ความเจริญริมแม่น้ำ ขยายตัวขึ้นมาก เพราะเสน่ห์ความเป็นเมืองเก่าที่สร้างใหม่ไม่ได้ โอกาสทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจคลองสานจึงมีศักยภาพที่พร้อมมาก”
"สิ่งหนึ่งที่รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมเก่าของคลองสานไว้ได้ก็คือ ความเป็นเมืองที่แน่น บ้านเรือนอยู่ติดๆ กันทั้งวัด ชุมชน สามารถเดินต่อเนื่องเชื่อมกันไปได้หมด ไม่มีถนนใหญ่ตัดผ่าน นอกจากศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวแล้ว พื้นที่ย่านคลองสานยังมีตึกแถว ที่ร้าง เก่า ที่อยู่ในรัศมีไม่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้ามากนัก ทางมจธ.จึงเห็นว่าเพื่อเป็นการต่อยอดทางธุรกิจ และไม่ปล่อยให้เกิดภาพความเสื่อมโทรมในพื้นที่ แนวความคิด Creative Sharing Space จึงเกิดขึ้น" อาจารย์ไมเคิลปริพล กล่าว
ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการย่านนวัตกรรมคลองสาน กล่าวว่า จากการศึกษาและเก็บข้อมูล พบว่าคลองสานมีความหลากหลายของวัฒนธรรมและการอยู่อาศัยร่วมกัน เช่น ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ชุมชนวัดเศวตฉัตร เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่คลองสาน ในอดีตยังเป็นพื้นที่ที่มีการขนส่งพืชผลทางการเกษตร มีโกดังเก็บพืชผลทางการเกษตร และยังมีกลุ่มธุรกิจยาขนาดเล็กและกลุ่มเครื่องหนังที่ทำธุรกิจในลักษณะขายส่งในพื้นที่นี้อีกด้วย
โครงการนี้ ฯ อยู่ระหว่างขอทุนเพื่อทำแอพพลิเคชันเก็บข้อมูล และอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกับเจ้าของอาคารต่างๆ เพื่อแนะนำ ให้ข้อมูล ในเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ ให้เกิดการเช่าหรือขาย จุดประสงค์อยากให้เกิดการเช่า เพราะการเช่าจะเป็นการแชร์ทั้งทรัพยากรและรายได้ให้เจ้าของเดิม และคนลงทุนใหม่
“จากการพูดคุยกับกลุ่มสตาร์ทอัพ มีความนิยมที่จะใช้พื้นที่ที่ใกล้กับรถไฟฟ้า ไม่เน้นเรื่องที่จอดรถ ไม่เน้นเช่าอาคารสำนักงาน และนิยมพื้นที่ที่เป็นตึกเก่าเอามาปรับปรุงเพื่อสร้างแบรนด์ให้เข้ากับความเป็นตัวตนของธุรกิจของเขา ซึ่งตึกเก่าย่านคลองสานตรงใจและตอบโจทย์” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อตอบโจทย์การสร้างพื้นที่นวัตกรรมและการพัฒนาเมือง การสร้างเครือข่ายในพื้นที่ให้เข้มแข็งก็เป็นส่วนสำคัญในพื้นที่นวัตกรรมย่านคลองสาน ดร.กัญจนีย์ กล่าวว่า ผลจากการทำงานร่วมกับชุมชน และภาคธุรกิจในพื้นที่ จึงเกิดเป็นเครือข่ายคลองสาน เช่น สำนักงานเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา (เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัยในพื้นที่) และหน่วยงานเอกชน (เช่น ไอคอนสยาม ล้ง 1919 แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น สิงห์เอสเตท เป็นต้น)
จนกระทั่งเกิด “คลองสานเฟส 2019 เทศกาลปล่อยของย่านคลองสาน ตอน ‘เดินดูหนัง-นั่งดูน้ำ’ เมื่อต้นปี 2562 ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ สร้างความภูมิใจ และทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า เศรษฐกิจในชุมชน ชาวบ้านเขามีส่วนกระตุ้นขึ้นมาได้ โดยไม่เกินกว่าความสามารถของเขา งานคลองสานเฟส ตอบโจทย์เรื่องเครือข่ายคือ ‘คลองสานเฟส’ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเห็นการสร้างโอกาสในการก้าวไปข้างหน้าด้วยตัวเองกับเครือข่ายที่ช่วยกันสร้างขึ้นมา และไปต่อยอดโครงการอื่นๆ ในชุมชนต่อไป” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การวางแผนการจัดการในพื้นที่ ดร.กัญจนีย์ กล่าวว่า เจ้าของพื้นที่ต้องมีส่วนในการวางแผนพื้นที่ สร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของให้กับชุมชนเนื่องจากจะเป็นทางอนุรักษ์พื้นที่ที่ดีที่สุด ในฐานะสถาบันการศึกษาก็มีหน้าที่ไปให้ข้อมูล
“กลุ่มธุรกิจเครื่องหนังในพื้นที่เริ่มต่อยอดธุรกิจเอง มีโรงเรียนสอนทำเครื่องหนัง มีโรงแรมที่พักแบบโฮสเทล และในงานคลองสานเฟส 2019 เขาก็ทำ Walking Tour ถนนเครื่องหนังด้วย” ดร.กัญจนีย์กล่าว
อย่างไรก็ตามความเจริญที่เกิดขึ้นก็ย่อมมีผลกระทบตามมาเช่นกันทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ การรุกล้ำลำคลองและเรื่องน้ำท่วม เนื่องจากเขตคลองสานมีพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาหลายกิโลเมตร โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมจากการหนุนของน้ำทะเล หรือการเพิ่มของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) หรือ Storm Surge (คลื่นที่หนุนจากพายุฝน) ในอนาคตเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้และเป็นปัญหาใหญ่ ที่เครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่คลองสานก็รับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและมีการพูดคุยในเรื่องนี้
ดร.กัญจนีย์ กล่าวว่า ได้ใช้เครือข่ายการประชุมจากเวทีนักวิชาการนานาชาติ มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูล โอกาสที่จะเกิดและการแก้ปัญหา โดยมีการแลกเปลี่ยนทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เป็นต้น และมีการพูดคุยกับกลุ่ม บริษัทที่ปรึกษาข้ามชาติ เช่น AECOM Thailand กลุ่มธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ กลุ่ม DTGO พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไอคอนสยาม โดยกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ เหล่านี้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีการเตรียมป้องกันไว้แล้ว เช่น ห้างสรรพสินค้าและคอนโดที่สร้างใหม่มีความสูง จึงอาจกระทบน้อย แต่ธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้หากพื้นที่โดยรอบได้รับผลกระทบ จึงพยายามผลักดันให้มีการพูดคุยในระดับชาติมากขึ้น
“การคาดการณ์ในอีก 50-100 ปีข้างหน้าหากปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรงมากขึ้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการยกตัวของน้ำทะเล (Storm Surge) ขึ้นได้ มีการทำแบบจำลอง (scenario) กรณีเกิด Storm Surge หรือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล (Sea Level Rise) ว่าระดับน้ำท่วมจะสูงกี่เมตร มีพื้นที่ใดบ้างที่น้ำจะท่วม และหากยอมรับความเสี่ยงจะปล่อยให้ท่วมได้แค่ไหน เป็นต้น” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
ดร.กัญจนีย์ กล่าวว่า นอกจากน้ำท่วมแล้วยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่ทางทีม มจธ. กำลังเก็บข้อมูลว่าลมในระดับ Street Level ช่วยลด PM2.5 ได้หรือไม่ และลมที่ผ่านคลองสามารถลดผลกระทบเกาะความร้อนเมือง (Urban Heat Island) หรือระบายมลพิษทางอากาศได้เร็วขึ้นหรือไม่ โดยเป็นงานวิจัยที่เริ่มเก็บข้อมูลใน 4 เขต ได้แก่ คลองสาน ธนบุรี จอมทอง และทุ่งครุ ภายในสองถึงสามเดือนนี้จะมีสรุปเบื้องต้นว่าผลเป็นอย่างไร
“หากผลออกมาว่าช่วยลดผลกระทบเกาะความร้อนเมือง โดยเป็นแนวกระจายความเย็น จากพื้นที่สีเขียวและน้ำ (Cool Spot) ในเมือง รวมทั้งมลพิษทางอากาศ อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่การรักษาสภาพความเขียวของเมืองและพื้นที่คลองไว้ ไม่ให้ถูกรุกล้ำหรือทำลายมีความหมายสำหรับทุกคนในเมือง“ ดร.กัญจนีย์ กล่าว