ครม.พร้อมหนุนโครงสร้างพื้นฐานภูเก็ต 3.5 หมื่นล้านบาท
ครม.รับทราบความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนจ.ภูเก็ตวงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,177 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.ภูเก็ต วันนี้ (3พ.ย.) รับทราบผลการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่1 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมีความก้าวหน้าของโครงการดังนี้คือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ(คชก.)ได้พิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2561 และมีมติให้ปรับปรุงแก้ไขและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานอีไอเอก่อนนำเสนอคชก.พิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของการตราพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจรฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจ.ภูเก็ตนั้น ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2562
นอกจากนี้ยังได้จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี2562 มีรายละเอียดของโครงการดังนี้คือ แนวเส้นทางโครงการของระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 จะเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตและไปสิ้นสุดบริเวณห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม 42 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 21 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณใกล้ห้างเทสโก้โลตัสถลาง ส่วนของระบบรถไฟฟ้า จะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาประเภท Tram แบบพื้นต่ำ เป็นระบบล้อเหล็กหรือล้อยาง ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 80กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ และมีระบบแบตเตอรี่สำรองสำหรับขับเคลื่อนในระยะสั้น คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน กรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.12 และผลตอบแทนทางการเงินเท่ากับร้อยละ 2.34 ผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบPPP ในเบื้องต้นพบว่า PPP Net Cost มีความเหมาะสม โดยรฟม.จะดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ต่อไป
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเห็นว่าโครงการขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต จะช่วยพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจ.ภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการจราจร เสริมสร้างศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน โดยตามแผนการดำเนินงานโครงการนั้น ครม.จะอนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการได้ในเดือนต.ค.2564 คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการในเดือนมี.ค.2565-มี.ค.2566 เริ่มก่อสร้างเดือนเม.ย.2566 และเปิดให้บริการในเดือนก.ค.2569
ขณะเดียวกันครม.ยังได้รับทราบผลการดำเนินโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) มูลค่าลงทุน 14,177 ล้านบาท เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทางระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตาในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 มีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจร้อยละ 20.44 อัตราผลตอบแทนด้านการเงิน 8.94 คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ทางพิเศษจำนวน 71,050คันต่อวัน ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้น ทางกทพ.ได้ส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้สคร. ซึ่งสคร.ได้ขอให้กทพ.เร่งดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ให้มีความชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ทั้งหมดแล้วเสร็จได้ภายในเดือนธ.ค.2563 โดยตามแผนงานจะคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการได้ในเดือนมิ.ย.2564- ม.ค.2566 ก่อสร้างโครงการเดือนก.พ.2566-ม.ค.2570 เปิดให้บริการได้ในเดือนก.พ.2570