“พลังงาน”เมินแนวทางจับฉลากของ สศช. ยึดวิธีประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน
พพ. เร่งสรุปหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน ยัน “ประมูล” แทน “จับฉลาก” มั่นใจไม่กระทบราคารับซื้อเชื้อเพลิง ด้าน ส.อ.ท. หวั่นซ้ำรอย เอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม โครงการเกิดยาก เล็งชงซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม จ่อยื่น กกพ.ยืดสัญญา พีพีเอ ขยะชุมชนนำร่อง 11 โครงการ
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังร่วมงานสัมมนา AEDP ภาคประชาชน หรือ Alternative Energy Development Plan ภาคประชาชน ที่จัดโดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ร่วมกับ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน
โดยระบุว่า ขณะนี้ การจัดทำ (ร่าง) กรอบหลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ยังเหลือขั้นตอนการพิจารณาอีก 3 คณะ คือ คณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ,คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งหากผ่านการอนุมัติแล้ว ทาง พพ.จะจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ประชาพิจารณ์) หลักเกณฑ์เงื่อนไขโครงการฯในรายละเอียดอีกครั้ง
เบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ อยู่ระหว่างกำหนดกรอบรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ จากเดิมสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เสนอแนะให้จัดทำโครงการนำร่องรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 100 เมกะวัตต์ โดยวิธีการคัดเลือกโครงการนั้น ทางกระทรวงพลังงาน จะใช้วิธีการเปิดประมูลแข่งขันด้านราคารับซื้อไฟฟ้า (Competitive Bidding) ซึ่งจะไม่กระทบต่อราคารับซื้อวัตถุดิบ เพราะจะเป็นการกำหนดให้ประมูลแข่งขันในช่วงของโรงไฟฟ้าไม่ใช่ในส่วนของเชื้อเพลิง และจะแยกแข่งขัน 2 ประเภทเชื้อเพลิง ระหว่างเชื้อเพลิงชีวมวล กับ เชื้อเพลิงชีวภาพ
“หากรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ ก็จะแบ่งเป็น ชีวมวลและชีวภาพอย่างละ 50 เมกะวัตต์ แต่หากรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ ก็จะแบ่งเป็นเชื้อเพลิงละ 75 เมกะวัตต์ โดยการประมูลแข่งขันจะเป็นการแข่งขันในส่วนของโรงไฟฟ้า แต่ส่วนของเชื้อเพลิงยังเป็นราคาเดิมที่รัฐกำหนดไว้ จึงไม่กระทบต่อราคาเชื้อเพลิง”
ทั้งนี้ พพ. มองว่า หากใช้วิธีการจับฉลากเพื่อคัดเลือกโครงการจะดำเนินการได้ยุ่งยากกว่าการประมูล และจะกำหนดให้ผู้ดำเนินโครงการต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในส่วนของรัฐและชุมชนในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อป้องกันการละทิ้งโครงการ โดยส่วนของชุมชน เบื้องต้นกำหนดอัตรา 4,000-8,000 บาทต่อไร่ ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อโรง อยู่ที่ 3-6 เมกะวัตต์
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. มองว่า ภาครัฐควรใช้วิธีการจับฉลากคัดเลือกโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน แทนการประมูล เพราะอาจซ้ำรอย โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ผู้ชนะประมูลยังไม่สามารถเดินหน้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ได้ เพราะส่วนหนึ่งราคาแข่งขันรับซื้อไฟฟ้าต่ำเกินไป รวมถึง ควรมีการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อนำไปใช้ลดค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า แทนการให้ผู้ประกอบการและรัฐวิสาหกิจชุมชนไปตกลงแบ่งบันเงินส่วนนี้กันเอง
โดยมองว่า กระทรวงพลังงาน ควรรับซื้อไฟฟ้าขนาด 150 เมกะวัตต์ จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้รวม 10,300 ล้านบาท แต่หากนำร่องได้เพียง 100 เมกะวัตต์ ถือว่าน้อยเกินไป และไม่ควรปรับลดปริมาณรับซื้อรวมที่ 1,933 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP2018 )ฉบับปรับปรุงครั้งที่1 จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 134,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยให้เกิดการจ้างงานอีก 1 หมื่นตำแหน่ง
นายทวี จงควินิต รองประธานด้านพลังงานขยะ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ทาง ส.อ.ท. เตรียมยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ในเร็วๆนี้ พิจารณาขยายระยะเวลาสัญญารับซื้อไฟฟ้า(PPA) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบFeed-in Tariffสำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(Quick Win Projects) จำนวน 11 โครงการ ปริมาณ 84 เมกะวัตต์ ออกไปอีก 2 ปี เพราะขณะนี้ เหลือระยะเวลาขายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาแค่ 18 ปี เพราะพ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อปี 60 ทำให้ผู้ประกอบการเสียเวลาไป 2 ปี และการลงทุนโรงไฟฟ้าได้คำนวนผลตอบแทนการลงทุน(IRR) ครอบคลุมอยู่ที่ 20 ปี
สำหรับ AEDP ภาคประชาชนนั้น ส.อ.ท.เตรียมจัดทำเล่นที่สมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ในเดือนธ.ค.นี้ โดยมีข้อเรียกร้อง เช่น ขอให้เร่งรัดโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ เพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ พร้อมรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย ให้นำเชื้อเพลิงขยะ(RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด
รวมถึง ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน(Prosumer)และโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจำนวน 13,500 คันและจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 433 สถานี รองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้าใน 3 เส้นทาง กทม.-อีอีซี กทม.-สระบุรี และกทม.-อยุธยา จะเกิดมูลค่าเงินลงทุนใน 10 ปี จำนวน 127,878 ล้านบาท