โครงการประกันรายได้เกษตรกร เช็ครายละเอียด 'ข้าว' - 'ยางพารา' รัฐบาลจัดงบให้ 6 หมื่นล้าน

โครงการประกันรายได้เกษตรกร เช็ครายละเอียด 'ข้าว' - 'ยางพารา' รัฐบาลจัดงบให้ 6 หมื่นล้าน

เช็คที่นี่ครบจบ! โครงการประกันรายได้เกษตรกร เปิดรายละเอียด ประกันราคา "ข้าว" และประกันราคา "ยางพารา" หลังรัฐบาลอนุมัติงบให้ 6 หมื่นล้าน

โครงการประกันรายได้เกษตรกร (6 พ.ย.) กลายเป็นที่สนใจของประชาชน หลัง คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. มีมติอนุมัติให้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 รวมวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรราว 6 หมื่นล้านบาท แยกเป็น ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 พร้อม 3 มาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 5.1 หมื่นล้านบาท และ ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท

รายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

โดยการประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ความชื้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ได้แก่
1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน
2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
3. ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน
4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน
และ 5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

ทั้งนี้ เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย จะต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรฯและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกันฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน

ในส่วนของการจ่านเงิน ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส.

มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64

ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 ธันวาคม 2564
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ตุลาคม2563-31ธันวาคม 2564
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ตุลาคม 2565 โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท

อีกทั้ง ครม. ยังเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563 /2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท

ครม. ยังอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่

โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ 1) ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2)น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และ3)ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 - กันยายน 2564 (ประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - 1 มีนาคม 2564) ทั้งนี้ ราคายางยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในช่วงที่ผ่านมา ขยับเกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรักษาระดับราคายางพาราให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป

ครม.อนุมัติ 4 โครงการคู่ขนาน ตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563

1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนการลดพื้นที่ปลูกยางพารา โดยธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 600 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ 4 ล้านบาท

เป้าหมายของโครงการมีดังนี้ (1) ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ร้อยละ 80 (2)กระตุ้นการโค่นยาง จำนวน 400,000 ไร่ และดูดซับไม้ยางจากการโค่น จำนวน 12 ล้านตัน และ (3)ราคาไม้ยางที่คาดหวังเฉลี่ย 1,300 บาทต่อตัน ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2565

2.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นการขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ทั้งสองโครงการให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย (1) ขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 โดยให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ออกไปและยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้ พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 (2) นำเงินจากการระบายยางในสต็อกและของบประมาณชดเชยการขาดทุนชำระคืนเงินกู้ ธ.ก.ส. วงเงินรวมทั้งสองโครงการ จำนวน 9,955.32 ล้านบาท และ (3) ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างผลิตยาง และอื่น ๆ รวม 898.76 ล้านบาท

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินเดิม) วงเงินรวม 25,000ล้านบาท เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการดังนี้ (1) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร จากเดิม เฉพาะธนาคารพาณิชย์ (2) ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อทุก 1ล้านบาท จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศเป็น 2 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2563 เดิมที่กำหนดในปีที่ 1 - 2 ของการลงทุน ต้องเพิ่มเป็น 2 ตันต่อปี ส่วนปีที่ 3 เป็น 4 ตันต่อปี) และ (3) ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบการใช้ยางของผู้ประกอบการเป็นรายปี ในปีการผลิต 2563 จากเดิมที่กำหนดเป็นรายเดือน โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 14,038.20 ล้านบาท วงเงินโครงการคงเหลือ 10,961.80 ล้านบาท

4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เป็นการเพิ่มกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของฤดูกาลใหม่เป็นรายเดือน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในตลาด หากไม่มีการซื้อยางก็จะไม่ได้รับการชดเชยในเดือนนั้น โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 – ธันวาคม 2564 ส่วนกิจกรรมที่มีอยู่เดิมของโครงการ คือ ผู้เข้าร่วมจะต้องมีสต็อกยางเพิ่มขึ้นมากกว่าสต็อกเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี หากเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจพบว่ามีปริมาณสต็อกน้อยกว่าหรือเท่ากับสต็อกเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี จะไม่ได้รับการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี จากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 4 ราย อนุมัติวงเงินสินเชื่อ 2,410 ล้านบาท มีปริมาณที่จัดเก็บตามโครงการ 75,692 ตัน จากเป้าหมาย 350,000 ตัน