การเมือง
"พีระพันธุ์" หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ต้องคิดให้ไกลว่า "ใครเขียน-เรื่องการเมือง"
ที่ปรึกษานายกฯ บรรยายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชี้ข้อเรียกร้องต้องไปไกลกว่าการเมือง - ใครเขียน ย้ำต้องวางเป้าหมาย สิทธิเสรีภาพ ควบคุมอำนาจรัฐ ดำรงความเป็นชาติ ทำรัฐธรรมนูญ เป็นคู่มือประชาชน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวบรรยายวิชาการ หัวข้อ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในงานประชุมใหญ่ สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ประจำปี 2562 ว่า การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนมองว่าต้องพิจารณาและให้ความสำคัญต่อหลักการของการออกกฎหมาย บริหารประเทศ แก้ปัญหาสังคมของไทย โดยรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นไม่ควรคิดเฉพาะมุมการเมือง แต่ต้องวางหลักการที่สำคัญไว้ โดยมีเป้าหมาย คือ คงความเป็นประชาธิปไตยในการใช้สิทธิเสรีภาพ ควบคุมการใช้อำนาจรัฐ และดำรงความเป็นชาติ ไม่ใช่มองเพียงว่าใครเขียน
“การเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญต้องมีเหตุผล ไม่ใช่อยู่ที่ใครเขียน แต่อยู่ที่เขียนดีจริงหรือไม่ ดูจากสิทธิของประชาชนได้รับความคุ้มครองหรือไม่ อำนาจรัฐถูกกำกับควบคุมแค่ไหน การดำรงเป็นชาติ คนไทยอยู่ระดับไหน ปัญหาของชาติบ้านเมืองที่เป็นปัญหาปรับปรุงเป็นพื้นฐานโดยรัฐธรรมนูญ หากที่เรียกร้องให้เขียนใหม่ แต่ลอกคล้ายของเก่า ก็เหมือนเดิม เพียงแค่ต่างคือ ใครเขียน ผมได้ศึกษารัฐธรรมนูญ พบว่าไม่ว่าเขียนโดยคณะปฏิวัติ หรือส.ส.ร. รัฐธรรมนูญ โครงสร้างเหมือนกันหมด ลอกมาเหมือนปี 2475 แต่สมัยที่ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540และปี 2550 ดีกว่าหน่อย คือ หมวดสิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมีมากกว่า แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญ โครงสร้าง ถ้อยคำลอกมาเหมือกัน” นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ไม่ว่ามีประชาธิปไตยแบบไหน รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีกำลังหารายได้ เพื่อจุนเจือตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยได้ ที่แอบอ้าง และโจมตี สร้างกระแส ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญต้องทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ คนที่มีศักยภาพทำมาหากินเยอะ ต้องปันให้กับคนที่เหลือ โดยรัฐต้องจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์กับคน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญไม่ใช่มองเฉพาะมุมการเมือง แต่ต้องทำให้เป็นคู่มือประชาชน เพื่อสามารถดำรงชีวิตได้ สามารถทำมาหากิน ได้รับความคุ้มครองจากภาครัฐ ไม่ให้ถูกกระทำโดยไม่ชอบ ดังนั้นการเขียนรัฐธรรมนูญ ควรหมดยุค 2475 ไม่ใช่ความเผด็จการ หรือเพื่อการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นกฎหมายสุงสุดของคนไทย เพื่อให้แก้ปัญหาชีวิตทุกอย่างได้
นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่านอกจากนั้นต้องแก้ปัญหา เช่น การศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตรที่มีผู้รู้ หรือ ด๊อกเตอร์จำนวนมาก จนทำให้หลักสูตรมั่ว ต้องยอมรับว่าหากหลักสูตรดี ทำไมเด็กถึงเติบโตเป็นแบบปัจจุบัน แสดงว่าที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ ในอดีตเด็กสามารถรอหนังสือของรุ่นพี่ได้ แต่ตอนนี้รอไม่ได้ ความสำคัญของตำราหายไป ส่วนตัวมองเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษา ที่เด็กได้ข้อมูลจากสิ่งที่ไม่ได้เรียน ทำให้ไม่ได้คิด ส่วนครูไม่ได้เรียนเช่นกัน
"การเมืองในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้ประเทศเดินหน้า แต่ประเทศเดินหน้ามาได้ ต้องยอมรับว่าเพราะฝ่ายธุรกิจ ภาคเอกชน ร่วมพัฒนา วันนี้ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญควรสนับสนุนส่งเสริมเอกชน ขณะที่ภาครัฐคือพี่เลี้ยง ไม่ใช่เป็นอุปสรรค เพราะภาคราชการที่คุ้นกับอำนาจ หากไม่ปรับปรุงการใช้อำนาจ ทำให้ระบบที่คิดว่าต้องปรับสำหรับสังคมไทยเป็นไปไม่ได้ ในการทำงานที่ผ่านมา เสนอว่าอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือสาธารณะ ให้เป็นกฎหมายกำกับดูแลเพื่อผ่อนปรนการใช้อำนาจรัฐ” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ที่ปรึกษานายกฯ กล่าวด้วยว่า หากมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดใหม่ ตนต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอไม่เฉพาะการเมืองเท่านั้น แต่นำเสนอปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐหรือประเทศดูแล เพราะหากพูดแต่การเมืองอาจไม่เข้าใจและหาข้อยุติแท้จริงไม่ได้ ส่วนการพิจารณาหรือทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาการเมือง ส่วนตัวมองว่ายาก เพราะขึ้นอยู่กับใจ หากใจไม่ใช่เป้าคือบ้านเมือง แต่คือเป้าของฉันก็ไม่จบ ดังนั้นคนที่เข้ามามีส่วนร่วมมีเป้าหมายเพื่อชาติบ้านเมืองจริงหรือไม่.